5 ก.ค. 2562

เพียงยื่นซองเสนอราคา ... จะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียแล้วหรือไม่ ?

มาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๔) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหาร ส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดอำนาจหน้าที่ให้นายอำเภอทำการสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็วกรณีมีข้อสงสัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดสิ้นสุดลง ด้วยเหตุที่ผู้นั้นเป็น ผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับองค์การบริหารส่วนตาบลที่ตนดำรงตำแหน่งหรือ ในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งนอกจากกระบวนการสอบสวนเพื่อให้สมาชิกสภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงจะต้องชอบด้วยกฎหมาย โดยจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่จำเป็นแก่การพิสูจน์ แสวงหาพยานหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องและเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ชี้แจงโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๐ แล้วจะต้องปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่าสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าวได้ใช้อำนาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการหรือการดำเนินการที่จะต้องทำสัญญาในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ให้ตนเองหรือผู้อื่นด้วย
ดังนั้น กรณีที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลได้แต่เพียงยื่นซองเสนอราคา แต่มิได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการสอบราคา จะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลอันมีผลทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลง หรือไม่ ?
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๒๑๑/๒๕๕๓ ได้วินิจฉัยดังนี้
ผู้ฟ้องคดีขณะเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและกรรมการผู้มีอำนาจ ลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท ส. แต่เพียงผู้เดียว ได้ยื่นซองสอบราคาในนามบริษัทตามโครงการซ่อมแซม ถนนลูกรังในหมู่บ้านที่องค์การบริหารส่วนตำบลประกาศสอบราคา แต่ไม่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะ การเสนอราคา ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดี (นายอำเภอ) ได้ดำเนินการสอบสวนกรณีดังกล่าวโดยสอบปากคำพยานบุคคลและพิจารณาพยานหลักฐานโดยไม่ให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจงข้อเท็จจริงและไม่สอบปากคำหรือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ และมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลงโดยอ้างเหตุว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับองค์การบริหารส่วนตาบล ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า กรณียื่นซองเสนอราคาแล้ว แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นเพียงการแสดงเจตนาที่จะทำสัญญาเท่านั้น และเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผลให้สมาชิกภาพ ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลง เป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบ ต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจงโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานก่อนจะมีคำสั่งให้พ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตาบลนั้น จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งถือเป็นรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสาคัญที่กฎหมายกำหนดไว้ กระบวนการสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่ผู้ฟ้องคดียื่นซองเสนอราคาเป็นเพียงคำเสนอจะทำสัญญา ซึ่งเมื่อองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ได้ทำคำสนอง สัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับองค์การบริหารส่วนตาบลจึงยังไม่เกิดขึ้น และยังไม่มีนิติสัมพันธ์ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อกัน และไม่ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ตนดำรงตำแหน่งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ เพราะการจะถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ หมายถึง การที่ได้เข้าไปถือเอาประโยชน์หรือเข้าไปดำเนินกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลที่ผู้นั้นดำรงตาแหน่งสมาชิกสภาขององค์การบริหาร ส่วนตำบลนั้นแล้วไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยมีเจตนาประสงค์ให้ตนได้รับประโยชน์หรือเป็น การเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลอื่น ดังนั้น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีเพียงแต่ได้ยื่นซองเสนอราคา แต่ถูกคณะกรรมการปรับตกไปก่อนจะได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำสัญญาจ้างกับองค์การบริหาร ส่วนตำบล จึงหาใช่เป็นการเข้าไปถือเอาประโยชน์หรือเข้าไปดำเนินกิจการขององค์การบริหาร ส่วนตำบลแล้ว ซึ่งจะมีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดี ต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ การมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจึงเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบ คำสั่ง ของผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้อธิบายลักษณะความ “เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อมในสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนดำรงตำแหน่งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล” ตามมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๔) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจะต้องมีเจตนาประสงค์ให้ตนเองได้รับประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ให้บุคคลอื่นโดยการใช้อานาจหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการนั้น เช่น กรณีนายกเทศมนตรีใช้อานาจเลือกโรงแรมซึ่งบุตรเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล เป็นสถานที่จัดการประชุมสัมมนาโดยมีเจตนาหรือ เอื้อประโยชน์ให้กับโรงแรมเพื่อให้มีรายได้เพียงพอที่จะปลดเปลื้องภาระหนี้สิน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๕๐๙/๒๕๕๔) แต่เมื่อคดีนี้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเพียงแต่ยื่นซองเสนอราคา และมิได้รับเลือกให้เข้าทำสัญญาเท่านั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าเข้าไปถือเอาประโยชน์หรือเข้าไปดำเนินกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนดำรงตาแหน่งอยู่อันจะถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งทาให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลง
เครดิต : นางสาวเบญญาภา ไชยคามี พนักงานคดีปกครองชานาญการ , กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร สำนักวิจัยและวิชาการ , สำนักงานศาลปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...