5 ก.ค. 2562

แผงลอยนี้ ... ผม (ผู้ค้าเดิม) มีสิทธิได้ !

คดีที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในตลาดของเทศบาลภายหลังจากที่เทศบาล ได้มีการปรับปรุงพื้นที่สำหรับการค้าขาย ซึ่งทำให้ผู้ค้าขายรายเดิมไม่ได้รับสิทธิให้ค้าขายอีกต่อไป ผู้ค้าขายรายเดิมจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้คุ้มครองสิทธิดังกล่าว
โดยฟ้องว่า ตนเป็นผู้ประกอบอาชีพค้าขายเสื้อผ้ามือสองในตลาดริมสันเขื่อนแม่น้ำ มานานกว่า 20 ปี ในปี 2538 - ปี 2540 ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ค้าขายในแผงลำดับที่ 105 และในปี 2539 กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ทำการก่อสร้างสันเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้าทำให้พื้นที่จำหน่ายสินค้าแผงที่ 97 - 113 ถูกยกเลิก ผู้ฟ้องคดีจึงย้ายมาทำการค้าขายในแผงลอยของบิดามารดาแทน ต่อมาในปี 2546 เทศบาล (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้พัฒนา และปรับปรุงพื้นที่บริเวณตลาดและได้สร้างอาคารที่จะใช้เป็นที่จำหน่ายสินค้าแล้วเสร็จ จึงได้คัดเลือกผู้ค้าขายจาก ผู้ค้ารายเดิมและผู้ค้ารายใหม่ด้วยวิธีการจับสลากแยกเป็นคนละวันก่อนหลังตามลาดับ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับอนุญาต ให้จับสลากในฐานะเป็นผู้ค้ารายเดิมและจับสลากในกลุ่มผู้ค้ารายใหม่แต่ไม่ได้รับคัดเลือก
หลังจากเทศบาลทำสัญญากับผู้ค้าที่ได้รับคัดเลือกแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ประกอบการค้าห้อง D - 16 ไม่ใช่เจ้าของห้องที่ได้รับสิทธิ จึงขอให้เทศบาลจัดสรรแผงลอยให้และเห็นว่าตนน่าจะมีสิทธิดีกว่าเพราะเป็นผู้ประกอบการรายเดิม แต่เทศบาลไม่ดำเนินการ จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาให้สิทธิประกอบการค้าแก่ผู้ฟ้องคดี
คดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างเหตุที่ไม่พิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ประกอบการรายเดิม เนื่องจากในการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการจะพิจารณาจากผู้ค้ารายเดิมก่อน โดยจะต้องเป็นผู้ที่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตต่อเนื่องทุกปีติดต่อกัน แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมแผงที่ 105 ตั้งแต่ปี 2541 และไม่ได้ประกอบการค้าตั้งแต่นั้นมา จึงเห็นว่า มีเจตนาที่จะไม่รักษาสิทธิในแผงลอย
นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดียังได้โต้แย้งในชั้นอุทธรณ์เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลปกครองโดยเห็นว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนี้มิใช่การใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง แต่เป็นกระบวนการเพื่อให้ได้มา ซึ่งบุคคลที่จะเข้าทำสัญญาที่มีลักษณะเป็นสัญญาทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงมิใช่คดีพิพาท ที่จะนำมาฟ้องต่อศาลปกครองได้
ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีฟังขึ้นหรือไม่ ? การกระทำของเทศบาลที่ไม่จัดให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญาประเภทผู้ประกอบการรายเดิมเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? และผู้ฟ้องคดีจะได้รับสิทธิ ในการค้าขายต่อไปหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยประเด็นต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อแผงขายสินค้าของผู้ฟ้องคดีถูกยกเลิกไปตั้งแต่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งทำให้ไม่มีแผงใช้ประกอบการค้า จนต้องไปอาศัยแผงลอยของบิดามารดาทำการค้าขายเรื่อยมา จึงเห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีเจตนาที่จะเลิกประกอบการค้าในสถานที่ดังกล่าว และการที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ชาระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2541 เกิดจากสาเหตุจำเป็นที่ไม่ใช่ความผิดของผู้ฟ้องคดี อีกทั้งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของกรมโยธาธิการและผังเมืองและผู้ถูกฟ้องคดี ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่สมควรที่จะถูกตัดสิทธิในการเป็นผู้ค้าเดิมที่มีสิทธิเช่าพื้นที่อาคารพิพาท และสมควรที่จะได้รับการเยียวยาหรือบรรเทาความเดือดร้อนเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้รับสิทธิเข้าทาสัญญาเช่าประเภทผู้ค้าเดิม
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการค้าโดยไม่จัดให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญาประเภทผู้ประกอบการค้าเดิม จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จึงพิพากษา ให้เพิกถอนการคัดเลือกบุคคลให้ไปทาการค้าโดยไม่จัดให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิเข้าทาการค้าในฐานะผู้ประกอบการค้าเดิม และให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดให้ผู้ฟ้องคดีเข้าทำการค้าเสื้อผ้าในอาคารพิพาทที่จัดไว้สำหรับผู้ประกอบการค้าเดิม หรือจัดให้ ตามความเหมาะสมเทียบเท่ากันจำนวน 1 ห้อง
สำหรับประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลปกครองนั้น ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยประเด็นนี้ว่า คำโต้แย้งดังกล่าวไม่ใช่เหตุที่นามาฟ้องเป็นคดีนี้ เพราะว่าการที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการคัดเลือกผู้ที่จะเช่าพื้นที่อาคารพิพาทโดยไม่ชอบ เนื่องจากไม่ปรากฏรายชื่อของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญา ทั้งที่เคยเป็นผู้ค้าขายอยู่ในบริเวณที่ตั้งอาคารมาก่อน ซึ่งน่าจะมีสิทธิดีกว่าผู้ประกอบการค้าที่ได้รับคัดเลือกบางราย จึงเป็นการโต้แย้งการดำเนินการคัดเลือกบุคคลให้เข้าไปทำสัญญาเช่าอาคารซึ่งเป็นกระบวนการก่อนการทำสัญญาเช่า จึงมิใช่เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อกำหนดในสัญญาเช่าแต่อย่างใด (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 591/2555)
คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้อำนาจกระทำการใดๆ ที่มีผลเป็นการกระทบสิทธิของเอกชน จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนที่จะใช้อำนาจให้สิทธิหรือตัดสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง และหากเอกชนได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่โดยที่เอกชนไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นและทำให้ต้องเสียสิทธิแล้ว ดังเช่น ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ซึ่งเหตุที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ค้าขายและไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมก็เพราะสาเหตุของการปรับปรุงพื้นที่ของหน่วยงานของรัฐเอง ดังนั้น จึงต้องเยียวยา หรือบรรเทาความเดือดร้อนนั้น จะตัดสิทธิโดยอ้างว่าไม่จ่ายค่าธรรมเนียม จึงฟังไม่ขึ้นครับ !!
เครดิต : นายปกครอง ,หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...