2 ก.ค. 2562

การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยศาลปกครอง ...กรณีนายทะเบียนมี “คำสั่งไม่อนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน”

การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง ใช้ระบบการพิจารณาที่เรียกว่า “ระบบไต่สวน”แตกต่างจากระบบวิธีพิจารณาของศาลยุติธรรมที่ใช้ “ระบบกล่าวหา” โดยในระบบไต่สวน ตุลาการศาลปกครองจะมีบทบาทสำคัญในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม ทั้งจากพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานผู้เชี่ยวชาญ หรือพยานหลักฐานอื่น นอกเหนือจากพยานหลักฐานที่คู่กรณียื่นต่อศาล ทั้งที่ปรากฏในคำฟ้อง คำให้การ คำคัดค้านคำให้การหรือคำให้การเพิ่มเติม เพื่อให้การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองเป็นไปด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม และเพื่อสร้างความสมดุลในความไม่เสมอภาคระหว่างคู่กรณีที่เป็นฝ่ายปกครองซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจในทางปกครองและมีอำนาจเหนือกว่าเอกชนผู้ที่ตกอยู่ภายใต้บังคับของการใช้อำนาจของฝ่ายปกครอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศาลปกครองจะมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงได้โดยไม่ผูกพันกับพยานหลักฐานที่คู่กรณียื่นต่อศาลก็ตาม แต่ระบบวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครองก็ยังยึดหลักการรับฟังความสองฝ่ายอย่างเคร่งครัด คือ การเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งคัดค้านการนำเสนอหรือข้อกล่าวอ้างของคู่กรณีอีกฝ่ายเสมอ โดยแสดงพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตน
คดีที่นำเสนอในวันนี้ คือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๖๓๘-๖๓๙/๒๕๕๘ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจของศาลปกครองในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองทั้งในทางรูปแบบและในทางเนื้อหา จากการที่นายทะเบียนอาวุธปืนมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ยื่นคำขอรับอนุญาตซื้อ มีและใช้อาวุธปืน
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขออนุญาตซื้อ มีและใช้อาวุธปืนยาว ๒ กระบอก คือ อาวุธปืนยาวลูกกรด ขนาด .๒๒ แบบมีศูนย์เล็ง และอาวุธปืนยาวลูกซอง ๕ นัด ขนาด ๑๒ ต่อนายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่ โดยอ้างเหตุผลว่าอาวุธปืนที่มีอยู่แล้ว ๒ กระบอก คือ อาวุธปืนพกสั้นขนาด ๙ มม. และอาวุธปืนยาวลูกกรด ขนาด .๒๒ ระบบลำเลื่อนไม่เหมาะสมกับการใช้งานป้องกันเพราะไม่มีศูนย์เล็ง ซึ่งไม่สามารถติดตั้งเพิ่มเติมได้ แต่นายทะเบียนอาวุธปืนมีคำสั่งลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ไม่อนุญาตตามคำขอ โดยให้เหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีมีอาวุธปืนอยู่แล้ว ๒ กระบอก ซึ่งพอสมควรแก่ฐานานุรูปที่จะต้องมีอาวุธปืนไว้เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน
ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง (เป็นคดีแรก) โดยฟ้องนายทะเบียนอาวุธปืน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีมีและใช้อาวุธปืน
แต่หลังจากที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว นายทะเบียนอาวุธปืนได้มีหนังสือลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าคำขออนุญาตซื้อ มีและใช้อาวุธปืนของผู้ฟ้องคดีขาดเหตุผลข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เพียงพอในเรื่องที่ขออนุญาต และผู้ฟ้องคดีได้รับอนุญาตให้ซื้อ มีและใช้อาวุธปืนแล้ว ๒ กระบอก จึงเพียงพอต่อการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินและที่อยู่อาศัยของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นร้านค้าอยู่ในเขตชุมชนไม่ไกลจากป้อมตำรวจ มีไฟฟ้าส่องสว่างในเวลากลางคืนและไม่เคยเกิดคดีอาชญากรรมพร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานภายใน ๗ วัน
ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง (เป็นคดีที่สอง) โดยมีคำขอเช่นเดิม คือ ขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีซื้อ มีและใช้อาวุธปืนและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่า คำสั่งไม่อนุญาตให้ซื้อ มีและใช้อาวุธปืน ไม่ได้ให้เหตุผล ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ จึงไม่มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานตามมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีตามที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องไว้ทั้งสองคดี และต่อมามีคำพิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยสถานะทางกฎหมายของคำสั่งไม่อนุญาตให้ซื้อ มีและใช้อาวุธปืนว่าเป็น “คำสั่งทางปกครอง” ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งเมื่อคำสั่งดังกล่าวมีสถานะเป็นคำสั่งทางปกครองจึงต้องตกอยู่ในบังคับที่ฝ่ายปกครองจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามที่กฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ หรือตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ในกรณีที่กฎหมายเฉพาะไม่ได้กำหนดไว้
โดยคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย ๒ ประเด็น คือ
ประเด็นที่หนึ่ง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีซื้อ มีและใช้อาวุธปืนเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้นหรือไม่ ? อันเป็นกรณีที่ศาลปกครองใช้อำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองในด้าน “รูปแบบ” ๒ ประการ กล่าวคือ
(๑) ฝ่ายปกครองได้ดำเนินการตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยให้โอกาสผู้ฟ้องคดีได้ทราบข้อเท็จจริง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานก่อนออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีซื้อ มีและใช้อาวุธปืน หรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยประเด็นนี้ว่า บทบัญญัติมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญในการทำคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี โดยจะต้องให้คู่กรณีได้ทราบข้อเท็จจริง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน แต่โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ (ซึ่งใช้ในขณะนั้น)ไม่ได้บัญญัติรับรองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลในอันที่จะซื้อ มีและใช้อาวุธปืนไว้แต่อย่างใด ทั้งอาวุธปืนเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศและความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่อาจถือว่ารัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิหรือเสรีภาพไว้โดยตรงหรือโดยปริยาย การที่ผู้ฟ้องคดียื่นขออนุญาตซื้อ มี และใช้อาวุธปืน จึงเป็นการยื่นคำขอรับสิทธิหรือเสรีภาพซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่เคยมีสิทธิหรือเสรีภาพดังกล่าวมาก่อน การปฏิเสธไม่ออกใบอนุญาตซื้อ มีและใช้อาวุธปืนตามคำขอ จึงเป็นแต่เพียงการยืนยันถึงความไม่มีสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ฟ้องคดี การไม่ให้ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสได้ทราบข้อเท็จจริง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานก่อนออกคำสั่ง จึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่ถูกต้องตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงอาจออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีซื้อ มีและใช้อาวุธปืน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
(๒) ในการออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีซื้อ มี และใช้อาวุธปืน ได้มีการให้เหตุผลตามมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยประเด็นนี้ว่า เมื่อคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีซื้อ มี และใช้อาวุธปืน เป็นคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๓๗ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ (บทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดข้อยกเว้น ๔ กรณีด้วยกัน คือ ๑. มีผลตรงตามคำขอและไม่กระทบสิทธิและหน้าที่ของบุคคลอื่น ๒. เป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้ว ๓. ต้องรักษาไว้เป็นความลับ และ ๔. เป็นการออกคำสั่งทางปกครองด้วยวาจาหรือเป็นกรณีเร่งด่วน แต่ต้องให้เหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรในเวลาอันควร หากผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งนั้นร้องขอ
อย่างไรก็ตาม โดยหลักของการให้เหตุผลในคำสั่งจะต้องเป็นคำสั่งทางปกครองที่เป็นหนังสือเท่านั้น) จึงต้องจัดให้มีเหตุผล ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งตามหนังสือลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ โดยจัดให้มีเหตุผลประกอบคำสั่งทางปกครอง แต่ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดอันเป็นเหตุให้คำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สมบูรณ์ แต่ภายหลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งตามหนังสือฉบับลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีซื้อ มีหรือใช้อาวุธปืนตามคำขอและแจ้งคำสั่งทางปกครองนี้ใหม่โดยระบุเหตุผลในการทำคำสั่งทางปกครองใหม่ ทั้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาชีพ ทำเลที่ตั้งของสถานประกอบการหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สนับสนุนการใช้ดุลพินิจว่าผู้ฟ้องคดีมีอาวุธปืนเพียงพอต่อการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของตนและบุคคลในครอบครัว จึงถือได้ว่าได้จัดให้มีเหตุผลโดยครบถ้วนตามมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้ว แม้คำสั่งฉบับนี้จะทำขึ้นภายหลังจากที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง (ครั้งแรก) แต่ก็ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วเสร็จและแจ้งผลให้ผู้ฟ้องคดีทราบ กรณีจึงเป็นการแก้ไขเยียวยาคำสั่งก่อนสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
ดังนั้น จึงเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการทำคำสั่งทางปกครอง
ประเด็นที่สอง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีซื้อ มี และใช้อาวุธปืนเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
ประเด็นนี้เป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในทางเนื้อหาของคำสั่งทางปกครอง โดยพิจารณาตามมาตรา ๗ มาตรา ๑๓ และมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งบัญญัติว่า “ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ให้ออกให้แก่บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สินหรือในการกีฬาหรือยิงสัตว์” ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้ผู้ยื่นคำขอจะเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓ นายทะเบียนท้องที่ก็มิได้มีหน้าที่หรือมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะออกใบอนุญาตให้ตามที่ขอ หากแต่มีดุลพินิจที่จะออกใบอนุญาตให้หรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุผลหรือความจำเป็นของผู้ยื่นคำขออนุญาตเป็นราย ๆ ไปว่าจำเป็นต้องมีและใช้อาวุธปืนสำหรับการป้องกันตัวหรือทรัพย์สินหรือในการกีฬาหรือยิงสัตว์หรือไม่ และมากน้อยเพียงใดเป็นสำคัญ
เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดหลักการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ซื้อ มีและใช้อาวุธปืนแนบท้ายหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๕๐๑/ว๘๘๖ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๑ ซึ่งมีลักษณะเป็นแนวทางในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาต ตลอดจนการพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องซื้อมีและใช้อาวุธปืนโดยไม่ได้มีเจตนาที่จะให้มีสภาพบังคับเป็นกฎ และหลักการดังกล่าวมิได้ชักนำให้มีการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาใบอนุญาตโดยขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายใด ๆ นายทะเบียนท้องที่จึงชอบที่จะใช้ดุลพินิจโดยอ้างอิงหลักการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ซื้อ มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าวได้ และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีประกอบอาชีพค้าขาย มิได้เป็นข้าราชการผู้มีหน้าที่ปราบปรามตามกฎหมายหรือมีหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต และร้านค้าอยู่ในเขตชุมชนไม่ห่างจากป้อมตำรวจ มีไฟฟ้าส่องสว่างในเวลากลางคืน และไม่เคยเกิดคดีอาชญากรรม การที่ผู้ฟ้องคดีเคยได้รับอนุญาตให้ซื้อ มี และใช้อาวุธปืน ๒ กระบอก จึงพอเพียงต่อการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินแล้ว
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีซื้อ มีและใช้อาวุธปืนตามคำขอจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยอ้างอิงหลักการดังกล่าวโดยสุจริตหรือโดยชอบด้วยเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของศาลปกครองในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีฝ่ายปกครองใช้อำนาจออก “คำสั่งทางปกครอง” โดยการตรวจสอบทั้งในด้านรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการทำคำสั่งทางปกครอง คือ การให้โอกาสคู่กรณีได้ทราบข้อเท็จจริง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานก่อนที่ฝ่ายปกครองจะใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิของคู่กรณีตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และการให้เหตุผลตามมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการออกคำสั่งทางปกครองที่หากฝ่าฝืนย่อมมีผลทำให้คำสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งนั้นได้ และการตรวจสอบเนื้อหาของคำสั่งทางปกครอง คือ การใช้ “ดุลพินิจ” ของฝ่ายปกครองในการพิจารณาออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ซื้อ มีและใช้อาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐
อย่างไรก็ตาม การให้โอกาสคู่กรณีได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานนั้น หมายถึง เฉพาะกรณีที่เป็นคำสั่งทางปกครองที่อาจ “กระทบถึงสิทธิของคู่กรณี” โดยสิทธิของคู่กรณีจะมีอยู่หรือไม่ อย่างไร จะต้องพิจารณาว่ามีกฎหมายรับรองสิทธิของคู่กรณีในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ หากคู่กรณีเป็นผู้ไม่มีสิทธิตามที่กฎหมายรับรองหรือคุ้มครองไว้ การออกคำสั่งทางปกครองก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ส่วนข้อผูกพันของฝ่ายปกครองที่ต้องให้เหตุผลของคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หมายถึง เฉพาะคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือเท่านั้น โดยฝ่ายปกครองจะต้องให้ “เหตุผล” เพื่อให้คู่กรณีได้รู้และเข้าใจถึงการใช้อำนาจของฝ่ายปกครอง ทั้งเหตุผลในข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และข้อสนับสนุนการใช้ดุลพินิจ และหากฝ่ายปกครองฝ่าฝืนไม่ได้ให้เหตุผล ณ เวลาที่ออกคำสั่ง ฝ่ายปกครองก็สามารถที่จะแก้ไขข้อบกพร่องหรือความไม่สมบูรณ์ดังกล่าวนั้นได้ด้วยการให้เหตุผลในภายหลังก่อนสิ้นสุดกระบวนการอุทธรณ์ตามมาตรา ๔๑ (๒) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจในการวินิจฉัยอุทธรณ์ไว้ว่า แม้ระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์จะล่วงพ้นไปแล้ว ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ก็ยังคงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จอำนาจในการวินิจฉัยอุทธรณ์หาได้สิ้นสุดลงเมื่อระยะเวลาที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จล่วงพ้นไป หรือเมื่อผู้อุทธรณ์ได้ใช้สิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ถูกอุทธรณ์ไม่
นอกจากนี้ คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดยังได้วางบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีในกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้กำหนด “นโยบาย” หรือ “แนวทางปฏิบัติ” สำหรับให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งหรือเกิดการลักลั่นกันโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามว่า หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการดังกล่าวได้ แต่แนวปฏิบัติหรือแนวนโยบายในการใช้ดุลพินิจนั้นจะต้องไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎและต้องไม่ชักนำให้เจ้าหน้าที่ ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้อำนาจหรือขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด และขัดต่อหลักการพื้นฐานของการใช้ดุลพินิจ(ผู้สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๖๓๘-๖๓๙/๒๕๕๘)
เครดิต : นางสมฤดี ธัญญสิริ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...