1 ก.ค. 2562

อุทธาหรณ์ก่อนทำผิด “ชู้กับวินัย”

เจ้าหน้าที่ธุรการ(หญิงสาว) ได้เข้าไปกระทำการร่วมรักกับชายในห้องส้วมภายในที่ทำงาน นานประมาณ 1 ชั่วโมง โทษที่ได้รับคือ ให้ออก (ปัจจุบันคือ โทษปลดออก ) ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กลายเป็นข่าวอื้อฉาวไม่จบไม่สิ้น
กรณีการคุกคามล่วงละเมิดทางเพศ นับตั้งแต่มีข่าวเกรียวกราวการเปิดใจของข้าราชการสาวในรัฐสภาถูกอดีตประธานสภารายหนึ่งล่วงละเมิดทางเพศ และมาล่าสุด กรณีคลิปหวิว บิ๊กตำรวจบรรเลงเพลงเลิฟซีนกับตำรวจสาวในห้องทำงาน ความพยายามหาทางให้ข้าราชการประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดี
หนังสือ “อุทาหรณ์ก่อนทำผิด ชู้กับวินัย เคยถูกจัดทำขึ้นโดยสำนักมาตรฐานวินัย สำนักงาน ก.พ. ซึ่งทำการรวบรวมเอกสารการศึกษาส่วนบุคคลของ นายเอกศักดิ์ ตรีกรุณาสวัสดิ์ สำนักงาน ก.พ. ในการฝึกอบรมนักบริหารระดับสูง หลักสูตรที่ 1 รุ่นที่ 40 ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเผยแพร่ หนังสือหนา 28 หน้า แบ่งเป็น 4 บท มีสาระประโยชน์ให้ข้าราชการทั่วไป รวมถึงผู้ที่กำลังมีพฤติการณ์ในทางไม่เหมาะสม หรือกระทำแล้วได้เรียนรู้ไว้เป็นอุทธาหรณ์ โอกาสนี้ โพสต์ทูเดย์ดอทคอม ขอคัดเฉพาะบทที่ 3 กรณีความผิดวินัยเกี่ยวกับข้าราชการชายและหญิง ซึ่งแยกเป็น 5 กรณี 1. เป็นชู้ มีชู้ 2. ชู้สาว 3. การข่มขืนกระทำชำเรา 4. การกระทำอนาจาร 5. การกระทำผิดวินัยกรณีอื่น มานำเสนอ
ตัวอย่าง เป็นชู้ มีชู้
1.เจ้าหน้าที่หญิงผู้หนึ่ง มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับชายคนหนึ่งจนถึงขั้นได้เสียกันโดยผู้ถูกลงโทษไม่ทราบว่าชายผู้นั้นมีภรรยาแล้ว ต่อมาเมื่อทราบว่าชายผู้นั้นมีภรรยาแล้วก็ยังติดต่อกันอีกจนภรรยาของชายผู้นั้นร้องเรียนขึ้นและชายได้หย่าขาดจากภรรยาแล้วมาจดทะเบียนสมรสกับผู้ถูกลงโทษ โทษที่ได้รับคือ ลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น ฐานประพฤติชั่ว
2. ข้าราชการชายผู้หนึ่ง ได้รู้จักกับหญิงมีสามีผู้หนึ่งซึ่งมีความประพฤติไม่ค่อยดีและแยกกันอยู่กับสามี แต่ผู้ถูกลงโทษไม่ทราบว่าหญิงนั้นมีสามีแล้ว วันที่รู้จักกันนั้นได้พากันไปรับประทานอาหารดื่มสุราและเบียร์ตามร้านอาหารหลายแห่ง จนกระทั่งเวลาประมาณ 24.00 น. จึงได้พากันไปพักผ่อนหลับนอนและได้เสียกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งโดยสมัครใจ และหลังจากนั้นก็ได้ไปหาผู้หญิงนั้นที่บ้านอยู่เสมอๆ ทั้งที่ผู้ถูกลงโทษก็มีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว โทษที่ได้รับคือ ตัดเงินเดือน 10 % เป็นเวลา 2 เดือน ฐานประพฤติชั่ว
จากรายงานการลงโทษที่ส่วนราชการรายงานมายัง ก.พ. ดังกล่าวใน จะแสดงให้เห็นว่า กรณีมีชู้หรือเป็นชู้นั้น การได้เสียกันโดยสมัครใจ มิใช่เหตุที่จะนำมาเป็นเหตุลดหย่อนโทษจากความผิดวินัยร้ายแรงเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรงแต่อย่างใด เหตุที่จะนำมามาเป็นข้ออ้างเพื่อลดหย่อนโทษได้นั้นอยู่ที่ว่าในขณะเป็นชู้หรือมีชู้นั้น รู้หรือไม่ว่าหญิงหรือชายนั้นมีสามีหรือภรรยาอยู่แล้ว ส่วนการที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกันโดยไม่สมัครใจ ก็อาจเป็นการข่มขืนกระทำชำเราหรืออนาจาร แล้วแต่กรณี ซึ่งเป็นความผิดอาญาอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาดำเนินการควบคู่ไปกับการดำเนินการทางวินัยก็ได้แล้วแต่กรณี
ในการพิจารณาของ ก.พ.นั้น ก.พ.ได้วางแนวทางการลงโทษ กรณีเป็นชู้หรือมีชู้ไว้ว่า ควรลงโทษให้ออกจากราชการ ซึ่งจะเป็นปลดออก หรือไล่ออก ก็แล้วแต่พฤติการณ์ของการกระทำเป็นเรื่องๆ ไป ตัวอย่างเช่น
เจ้าหน้าที่ชายผู้หญิง ได้ร่วมประเวณีกับหญิงลูกจ้างซึ่งมิใช่ภรรยาของตนในห้องๆหนึ่งในราชการหลายครั้ง และเป็นระยะเวลาหลายปี โทษที่ได้รับ คือ ให้ออก (ปัจจุบันคือ โทษปลดออก) ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
หนังสือได้กล่าวถึง ตัวอย่างเหตุการณ์ชู้สาวจะได้รับการลงโทษอย่างไรไว้ด้วย เช่น
2. พยาบาล(สาว) ได้พาเพื่อนชายเข้าไปพลอดรักและกอดปล้ำกันในห้องอุบัติเหตุเป็นเวลานานหลายชั่วโมง จนกระทั่งมีคนไข้ปวดท้อง เจ้าหน้าที่อื่นจึงไปตามฉีดยาให้คนไข้ โทษที่ได้รับคือ ลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น ฐานประพฤติชั่ว
3. ข้าราชการชายผู้หนึ่ง ได้เข้าไปนอนข้างๆและจับแขนหญิงสาวซึ่งกำลังหลับนอนหลับอยู่ในมุ้งและอยู่ในห้องเดียวกับผู้ถูกลงโทษ(นอนมุ้งคนละหลัง) หญิงสาวแจ้งความดำเนินคดี คู่กรณีประนีประนอมยอมความกัน และฝ่ายหญิงถอนคำร้องทุกข์ คดีถึงที่สุด โทษที่ได้รับคือ ตัดเงินเดือน 10 % ฐานประพฤติชั่ว
4. เจ้าหน้าที่หญิงผู้หนึ่งติดต่อสนิทสนมกับข้าราชการชายอีกหน่วยงานหนึ่งมีการนัดหมายพบปะเที่ยวเตร่กันสองต่อสองทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่ามีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกัน เป็นเหตุให้ภรรยาของข้าราชการชายผู้นั้นร้องเรียน โทษที่ได้รับคือ ตัดเงินเดือน 10 % เป็นเวลา 4 เดือน ฐานประพฤติชั่ว
5.เจ้าหน้าที่พิมพ์ดีด มีความสัมพันธ์รักใคร่ชอบพอกับลูกจ้าง(สาวโสด) โดยเปิดเผย แต่ไม่ถึงขั้นได้เสีย ทั้งๆที่ตนมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ โทษที่ได้รับคือ ภาคทัณฑ์ฐานประพฤติชั่ว
นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งในอีกหลายร้อยตัวอย่างซึ่งไม่ได้กล่าวถึง ทั้งกรณีการข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำอนาจาร การกระทำผิดวินัยกรณีอื่น แต่ทั้งหมดทั้งปวงล้วนแต่สะท้อนให้เห็นว่า ทุกสังคมย่อมีกฎกติกา ระเบียบแบบแผนกำหนด เพื่อดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดี โดยเฉพาะการรักษาภาพลักษณ์วงการข้าราชการไทยไม่ให้ฟอนเฟะมากว่านี้
เครดิต : โฟสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๓ คลิ๊ก เพื่ออ่านต่อได้ที่ https://www.posttoday.com/analysis/51982

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...