2 ก.ค. 2562

ไม่อาจสั่งทุเลาการบังคับ ... เมื่อ “ไม่มี” เหตุอันสมควร

การยื่นคําขอทุเลาการบังคับตามกฎหรือคําสั่งทางปกครองไว้เป็นการชั่วคราว ถือเป็นมาตรการหนึ่ง ในกระบวนวิธีพิจารณาคดีปกครองที่กําหนดขึ้นเพื่อยับยั้งไม่ให้กฎหรือคําสั่งทางปกครองนั้นมีผลใช้บังคับกับผู้อยู่ภายใต้บังคับ แห่งกฎหรือคําสั่งทางปกครองดังกล่าว จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดคดี               แต่โดยที่ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ข้อ 72 วรรคสาม ได้กําหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณา เพื่อมีคําสั่งทุเลาการบังคับว่า กฎหรือคําสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย การให้กฎ หรือคําสั่งทางปกครองมีผลใช้บังคับต่อไปจะทําให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง  และการทุเลาการบังคับไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ  ดังนั้น การที่ศาลปกครองจะมี คําสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคําสั่งทางปกครอง จึงต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ทั้งสามประการข้างต้น               คดีปกครองที่นํามาเล่าสู่กันฟังในวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “เหตุอันไม่สมควร” ที่ศาลปกครองจะมีคําสั่ง กําหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองไว้เป็นการชั่วคราว                ข้อเท็จจริงในคดีคือ ผู้ถูกฟ้องคดี (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ได้ออกประกาศประกวดราคาซื้อรถซ่อม บํารุงถนนและปูพื้นผิวทางในคันเดียวกัน โดยกําหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของรถว่า ส่วนหน้าติดตั้งชุดแขนบูมไฮดรอลิก สําหรับใช้เลื่อนตําแหน่งปะซ่อมหลุมได้อย่างต่อเนื่อง และส่วนหลังติดตั้งถังบรรจุหิน บรรจุนํ้ายางและนํ้าสะอาด และมีถังเก็บลม พร้อมทั้งติดตั้งชุดยกเทไฮดรอลิกสําหรับการปูพื้นผิวทาง โดยสามารถควบคุมสั่งการทํางานทั้งหมดได้ภายในห้องคนขับ                ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นตัวแทนจําหน่ายรถซ่อมบํารุงถนนยี่ห้อ J เห็นว่า ประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว กําหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะเอื้อประโยชน์ให้กับยี่ห้อ P เพียงรายเดียว เช่น กําหนดให้มีถังบรรจุนํ้าและถังเก็บลม ขนาดใหญ่ ให้มีระบบปฏิบัติการปะซ่อมด้านหน้าของตัวรถมีชุดแขนบูมไฮดรอลิก ซึ่งรถซ่อมบํารุงถนนของผู้ฟ้องคดี และยี่ห้ออื่นที่มีจําหน่ายในประเทศไทยไม่มีชุดติดตั้งดังกล่าวคงมีแต่เพียงชุดท่อพ่นด้านหลังรถ ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดี ไม่สามารถเข้าร่วมในการเสนอราคาได้  ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนประกาศประกวดราคาและขอให้ศาลกําหนดมาตรการ หรือวิธีการคุ้มครองเพื่อทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าว โดยที่ประกาศประกวดราคาซื้อรถซ่อมบํารุงถนนมีสถานะทางกฎหมายเป็นคําสั่งทางปกครองทั่วไป ศาลปกครองจึงมีอํานาจกําหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าว โดยพิจารณาภายใต้ หลักเกณฑ์ทั้งสามประการดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น                ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยประเด็นการออกประกาศประกวดราคาโดยกําหนดรายละเอียดที่มี คุณลักษณะเฉพาะ อันส่งผลให้ผู้เสนอราคาบางรายไม่สามารถเข้าเสนอราคาว่า เป็นเหตุที่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย เนื่องด้วย ผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกประกาศประกวดราคาซื้อรถซ่อมบํารุงถนนโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้งานทั้งการซ่อมบํารุงถนนและ ปูพื้นผิวทางได้ในรถคันเดียวกัน เพื่อให้การซ่อมแซมมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัย เนื่องจากเป็นพื้นที่ใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ที่เกิดความไม่สงบ การออกประกาศที่มีคุณลักษณะเฉพาะดังกล่าวจึงเป็นการดําเนินการที่สอดคล้อง ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานและเพื่อให้ความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย ประกอบกับรถยี่ห้อ J ของผู้ฟ้องคดีเป็นรถที่ไม่มีระบบปูพื้นผิวทาง และเป็นรถที่มีแขนบูมไฮดรอลิกอยู่ด้านท้ายตัวรถ รวมทั้งต้องใช้แรงงานคน ควบคุมทิศทางนอกตัวรถ จึงเป็นรถคนละประเภทกับรถที่ผู้ถูกฟ้องคดีประสงค์จะจัดซื้อ  ดังนั้น การออกประกาศของผู้ถูกฟ้องคดี ที่มีคุณลักษณะเฉพาะจึงหาได้เอื้อประโยชน์แก่รถยี่ห้อหนึ่งยี่ห้อใด ประกาศดังกล่าวจึงน่าจะชอบด้วยกฎหมาย                ส่วนประเด็นปัญหาว่า ประกาศดังกล่าวจะทําให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงและยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง รวมทั้งเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะหรือไม่นั้น                ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นตัวแทนจําหน่ายรถยี่ห้อ J ซึ่งไม่ใช่รถซ่อมบํารุงถนนและปูพื้นผิวทางได้ในรถคันเดียวกันตรงตามที่ผู้ถูกฟ้องคดี ประกาศจัดซื้อ การให้ประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีมีผลบังคับใช้ต่อไปย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี ที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังแต่อย่างใด  นอกจากนี้ ส่วนราชการอื่น ๆ ในพื้นที่เดียวกันได้มีหนังสือขอความ อนุเคราะห์จากผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อขอยืมรถและเครื่องจักรในการซ่อมบํารุงถนนในความรับผิดชอบของส่วนราชการของตน การมีคําสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ ในการซ่อมแซมถนนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน กรณีจึงยังไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลปกครองจะกําหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อทุเลาการบังคับ ตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี (คําสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 300/2557)                คดีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสําหรับการทําความเข้าใจเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครอง เพื่อให้การบังคับตามคําสั่งทางปกครองของฝ่ายปกครองนั้น มีผลเป็นการยับยั้งการบังคับไว้เป็นการชั่วคราว ซึ่งกรณีที่ ศาลปกครองจะพิจารณาสั่งทุเลาการบังคับหรือไม่ จะต้องพิจารณาให้ครบหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการ คือ               1. คําสั่งทางปกครองนั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย               2. การให้คําสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทําให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง และ               3. การทุเลาการบังคับต้องไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการ สาธารณะ                ดังนั้น หากคู่กรณีใดประสงค์ที่จะขอทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองก็สามารถนําหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการข้างต้น ไปกล่าวอ้างเพื่อประกอบการพิจารณายื่นคําขอได้ ... ครับ !  
         เครดิต : นายปกครอง  หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...