1 ก.ค. 2562

ปรับปรุงถนน ประชาชนเสียหาย ... หน่วยงานต้องรับผิด ?

แม้การก่อสร้างและปรับปรุงถนนจะเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๗ ที่กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ตาม แต่ก่อนที่จะดำเนินโครงการ หน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการสำรวจตรวจสอบและชี้แจงทำความเข้าใจ พร้อมขอความร่วมมือหรือความยินยอมจากประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ซึ่งหมายความว่าในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งในการจัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล การจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบ การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ...
กรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลได้ดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะโดยการก่อสร้างและปรับปรุงถนน โดยถมถนนให้สูงขึ้นจนทำให้เอกชนที่อาศัยหรือทำกินอยู่ในพื้นที่รอบถนนดังกล่าวได้รับความเสียหาย หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการก่อสร้างและปรับปรุงถนนจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ที่เกิดขึ้นต่อเอกชนที่ได้รับความเสียหายหรือไม่ ? หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าภายหลังเกิดปัญหาถกเถียงขึ้นแล้วได้ขอความร่วมมือกับเอกชนที่ไม่ได้รับผลกระทบเพื่อขอฝังท่อระบายน้ำ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ
คดีปกครองที่จะนำเสนอนี้มีคำตอบ ...
โดยเหตุของคดีเกิดจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (องค์การบริหารส่วนตำบล) ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงถนนเพื่อการเกษตรเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน ซึ่งได้มีการจัดประชุมประชาคมเพื่อจัดทำแผนและผ่านความเห็นชอบของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว โดยว่าจ้างเอกชนให้ทำการก่อสร้าง แต่เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จได้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังที่นาบางส่วนของเอกชนซึ่งเป็นของผู้ฟ้องคดี เพราะเดิมถนนดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าที่นาของผู้ฟ้องคดี เมื่อถึงฤดูฝนน้ำจะไหลผ่านถนนไปลงลำห้วย แต่เมื่อมีการก่อสร้างปรับปรุงถนนโดยการขุดดินบริเวณโดยรอบถมถนนให้สูงขึ้นประมาณ ๑ เมตร ถนนจึงไปขวางทางน้ำไหล ประกอบกับการก่อสร้างไม่ได้วางท่อระบายน้ำใต้ถนนบริเวณที่นาของผู้ฟ้องคดีไว้ ทั้งที่เงื่อนไขในสัญญาระบุให้ ผู้รับจ้างต้องวางท่อระบายน้ำใต้ถนนเพื่อให้น้ำไหลผ่านถนนได้โดยสะดวกเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมขังที่นาบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากเจ้าของที่นาบริเวณข้างเคียงไม่ยินยอม
หลังจากผู้ฟ้องคดีร้องเรียนเพื่อให้มีการแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้จัดซื้อ ท่อระบายน้ำ คสล. เพื่อจะฝังลงใต้ถนนให้น้ำไหลผ่าน แต่ไม่สามารถวางท่อระบายน้ำได้ เพราะเจ้าของที่นาข้างเคียงบางแปลงไม่ยินยอมให้ฝังท่อระบายน้ำ
ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายกองค์การบริหารส่วนตำบล) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่นาข้าวถูกน้ำท่วม
องค์การบริหารส่วนตำบลต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบกในเขตพื้นที่รับผิดชอบ แม้การก่อสร้างปรับปรุงถนนจะเป็นการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในท้องถิ่น โดยโครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนพัฒนาตำบลและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีการจัดประชุมประชาคมเพื่อจัดทำแผน และผ่านความเห็นชอบของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแล้วก็ตาม แต่เมื่อน้ำท่วมนาข้าวของผู้ฟ้องคดีเสียหายเป็นเหตุมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่ดำเนินการให้ผู้รับจ้างวางท่อระบายน้ำในบริเวณที่นาของผู้ฟ้องคดีให้เรียบร้อยถูกต้อง จึงเป็นความบกพร่องและความประมาทเลินเล่อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงเป็น การกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้โครงการนี้จะได้จัดให้มีการประชุมประชาคมและได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมประชาคมแล้ว แต่การจัดประชุมประชาคมก็ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการหรือคำชี้แจงให้ประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ได้รับทราบ รับรู้ หรือเข้าใจแต่อย่างใด โดยก่อนที่จะดำเนินโครงการควรต้องสำรวจตรวจสอบและชี้แจง ทำความเข้าใจ พร้อมขอความร่วมมือหรือความยินยอมจากประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวด้วย มิใช่เพิ่งมาชี้แจงหรือขอความร่วมมือในภายหลัง อันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุที่เกิดจากความบกพร่องของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเอง การที่เจ้าของที่นาข้างเคียงต่างไม่ยินยอมให้วางท่อระบายน้ำเพื่อให้น้ำผ่านที่นาของตน จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองพ้นจากความรับผิดแต่อย่างใด
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตน ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิด ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๑๐๐๗/๒๕๕๙)
คดีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะว่า (๑) จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการต่าง ๆ ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้ และจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบและระมัดระวังเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับการจัดทำบริการสาธารณะ และ (๒) ถึงแม้ว่าการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้จะเป็นดุลพินิจของหน่วยงานของรัฐก็ตาม แต่เมื่อการดำเนินการนั้นส่งผลกระทบต่อเอกชนหรือประชาชนให้ได้รับความเสียหาย การชี้แจงทำความเข้าใจถึงวิธีการในการดำเนินการ รวมทั้งการขอความร่วมมือหรือความยินยอมจากผู้ได้รับผลกระทบนั้นถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนแรก เพราะหากในที่สุดไม่อาจแก้ปัญหาได้ย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งนั่น ก็หมายความว่าหน่วยงานของรัฐจะต้องจัดหางบประมาณเพื่อชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว
เครดิต : นางสาวจารุณี กิจตระกูล พนักงานคดีปกครองชำนาญการ , กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร , สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...