2 ก.ค. 2562

ให้ผู้บังคับบัญชารับผิด ... แต่ไม่ให้โอกาสโต้แย้ง !

คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้ เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งเรียกให้ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการที่ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา แต่หน่วยงานมิได้ให้โอกาสแก่ผู้บังคับบัญชาได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานก่อน
เหตุพิพาทเกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรุงเทพมหานคร) มีคำสั่งให้นางสาว ส. เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีไม่นำเงินรายได้ฝากเข้าบัญชีหรือนำฝากไม่ครบตามจำนวน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (กระทรวงการคลัง) เห็นว่าผู้ฟ้องคดีในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาของนางสาว ส. ได้ปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาอันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรง เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) มีคำสั่งยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคำสั่งโดยไม่ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีได้ทราบข้อเท็จจริ งและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะมิได้อุทธรณ์ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มิได้ให้โอกาสทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอและเป็นธรรม แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีได้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องในประเด็นดังกล่าวแล้ว ศาลปกครองจึงชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้
และเมื่อคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งจะต้องให้โอกาสแก่เจ้าหน้าที่ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ประกอบกับข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ตามหลักการรับฟังผู้ถูกกระทบสิทธิหรือหลักการรับฟังคู่กรณีทุกฝ่าย อันเป็นหลักการพื้นฐานในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอำนาจออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนกระทรวงการคลังได้รับฟังข้อต่อสู้หรือพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่อย่างครบถ้วนก่อนที่จะพิจารณาว่าจะต้องรับผิดหรือไม่ เพียงใด
การให้โอกาสแก่เจ้าหน้าที่ได้ทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม จึงเป็นขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและไม่มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน และกรมบัญชีกลางก็ไม่ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีส่งพยานหลักฐานหรือให้ถ้อยคำเพื่อประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมตามข้อ 17 วรรคสาม ของระเบียบเดียวกัน ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จะมีความเห็นให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้บังคับบัญชาของนางสาว ส. ซึ่งขัดต่อหลักการรับฟังคู่กรณีทุกฝ่าย
ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
คดีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานที่ดีสำหรับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจในการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ว่า หน่วยงานจำต้องให้โอกาสแก่เจ้าหน้าที่ในการได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนก่อน เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าหน้าที่ที่จะถูกกระทบจากผลของคำสั่งดังกล่าว และถือว่าเป็นรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่มีผลทำให้คำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในชั้นอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองนั้น ผู้ฟ้องคดีไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับการที่ไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 30 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ข้อ 15 แต่ในชั้นการฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นผู้ฟ้ องคดีได้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้ องในประเด็นดังกล่าว และศาลปกครองได้ยกขึ้นพิจารณาด้วย จะถือว่าการให้โอกาสคู่กรณีได้ทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลปกครองจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ข้อ 92 ประกอบข้อ 116 หรือไม่ ? สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 626/2557 ครับ !
นายปกครอง , หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...