5 ก.ค. 2562

ทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหาประโยชน์โดยไม่ชอบ ...ที่สุด ก็ต้องชดใช้!

อุทาหรณ์ในวันนี้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลใช้อำนาจทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงการมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับเทศบาลโดยการขายที่ดินของตนให้บุคคลอื่นในราคาถูกและใช้อำนาจในตำแหน่งซื้อที่ดินกลับคืนในราคาสูง
พฤติกรรมของนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลในการทำนิติกรรมอำพราง และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ยกมาเป็นอุทาหรณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่ควรศึกษาครับ …
ข้อเท็จจริงก็คือผู้ฟ้องคดีขณะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดิน น.ส. 3 ก.เพื่อก่อสร้างสถานที่พักผ่อน ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาประเมิน 216,600 บาท เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเคยเป็นผู้ครอบครองมาก่อน และก่อนที่จะมีการซื้อขายให้กับผู้ถูกฟ้องคดี (เทศบาลตำบล) เพียง 6 วัน ได้โอนขายให้นาย ป. ในราคา 220,000 บาท และนาย ป. ขายคืนให้ผู้ถูกฟ้องคดีในราคา 1,365,000 บาท ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลังให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวน โดยคำนวณจากส่วนต่างของราคาที่ผู้ถูกฟ้องคดีจัดซื้อจากนาย ป. กับราคาประเมินจากสำนักงานที่ดินจังหวัด ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองสูงสุดท่านจะวินิจฉัยเรื่องนี้อย่างไร? ติดตามกันครับ
ประเด็นว่า ผู้ฟ้องคดีได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ตามหลักกฎหมายพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กำหนดว่า หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐอันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (มาตรา 10)
เมื่อการจัดซื้อที่ดินเป็นการจัดซื้อเฉพาะแห่งและจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ จึงต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 21 และข้อ 50 แต่จากรายงานการตรวจสอบสืบสวนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ปรากฏข้อเท็จจริงสอดคล้องกันว่า คณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษไม่ได้นำข้อมูลราคาประเมินที่ดินและราคาซื้อขายที่ดินใกล้เคียงบริเวณที่จะซื้อที่ดินครั้งหลังสุดจำนวน 3 ราย ที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ดินจังหวัดมาประกอบการพิจารณาว่าสมควรที่จะซื้อที่ดินแปลงพิพาทตามราคาที่เสนอหรือไม่ ทั้งที่ดินแปลงพิพาทเคยเป็นของผู้ฟ้องคดี และนาย ป. ผู้ขายก็ไม่ได้เป็นผู้ตั้งราคาซื้อขาย ไม่ได้เป็นผู้ตกลงกับเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรงและได้รับเงินค่าซื้อขายเพียงบางส่วน นอกจากนี้ก็ไม่ได้เป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงพิพาทและจ่ายเงินค่าซื้อที่ดิน 220,000 บาทให้กับผู้ถูกฟ้องคดี
จึงเชื่อว่า การซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวไม่มีการต่อรองราคา และพฤติกรรมของผู้ฟ้องคดีที่ขายที่ดินให้นาย ป. เป็นการทำนิติกรรมอำพรางโดยผู้ฟ้องคดีมีเจตนาหลีกเลี่ยงการมีส่วนได้เสียในสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีตามมาตรา 18 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 จึงเห็นได้ว่าผู้ฟ้ องคดีจงใจซื้อที่ดิน โดยไม่ดำเนินการามระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้น การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการ
ประเด็นต่อมาก็คือ ผู้ฟ้องคดีจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินเท่าใด?
เมื่อผู้ฟ้องคดีซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีซึ่งมีอำนาจการตัดสินใจซื้อหรือไม่ ในขั้นสุดท้ายและเมื่อการโอนที่ดินให้แก่นาย ป. เป็นการกระทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและเพื่อให้มีการซื้อขายที่ดินราคาแพงกว่าความเป็นจริง สามีของผู้ฟ้ องคดี (ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาขายให้กับคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ) และผู้ฟ้ องคดีจึงย่อมเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากราคาที่ดินที่แพงเกินความจริงดังกล่าวเต็มจำนวน ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้ องคดีให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการเป็นเงินจำนวน 1,148,400 บาท โดยคำนวณจากส่วนต่างของราคาที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีจัดซื้อจากนาย ป. กับราคาประเมินที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ดินจังหวัดจึงเป็นคำสั่งที่ได้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมและเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 10/2554)
คดีนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ส่วนรวมที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ไม่อาศัยโอกาสในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ... นะครับ
เครดิต : นายปกครอง , หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...