5 ก.ค. 2562

การตรวจการจ้างและการควบคุมงานก่อสร้าง

ด้วยการตรวจการจ้างและการควบคุมงานก่อสร้าง เป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญ ที่จะบริหารสัญญาจ้างก่อสร้างให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ “กรรมการตรวจการจ้าง” และ “ผู้ควบคุมงาน” จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดไว้และเข้าใจในเงื่อนไขข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาเป็นอย่างดี เพราะหากไม่เข้าใจหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนในหน้าที่ความรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ที่ตนเองได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่แล้ว อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการหรือบุคคลอื่น นอกจากนี้ อาจจะต้องรับผิดในทางแพ่ง อาญา วินัยฯ หรืออาจถูกฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ “กรรมการตรวจการจ้าง” และ/หรือ“ผู้ควบคุมงาน” มีความรู้มีความเข้าใจ ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายได้อย่างถูกต้อง จึงขอนำระเบียบและสาระสำคัญที่ควรทราบมากล่าวไว้เพื่อนำไปใช้ประกอบในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
1. คณะกรรมการตรวจการจ้าง
1.1 การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้าง
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ กำหนดไว้ใน ข้อ 35 ข้อ 36 สรุปได้ดังนี้.-
(1) องค์ประกอบของคณะกรรมการอย่างน้อยมี 3 คน ประกอบด้วย
- ประธานกรรมการ 1 คน และ
- กรรมการอย่างน้อย 2 คน
การแต่งตั้งคำนึงถึงลักษณะงานหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นสำคัญ
(2) กรณีจำเป็นจะแต่งตั้งคนที่มิใช่ข้าราชการร่วมเป็นกรรมการด้วยก็ได้
(3) ถ้าประธานฯ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้หัวหน้าส่วนราชการแต่งตั้งประธานฯ แทน
(4) ควรแต่งตั้งผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับงานจ้างร่วมเป็นกรรมการด้วย
(5) มติของคณะกรรมการตรวจการจ้าง ให้ใช้มติเอกฉันท์ กรณีกรรมการคนใดไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการให้ทำบันทึกความเห็นแย้งไว้ หากหัวหน้าส่วนราชการสั่งการอย่างไรก็ให้ตรวจรับตามนั้น
(6) เป็นกรรมการเปิดซองสอบราคาจ้าง หรือกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างหรือกรรมการจัดร่างขอบเขตของงาน (TOR) หรือกรรมการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้างได้
1.2 หน้าที่ของคณะกรรมการตรวจการจ้าง
1.2.1 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ข้อ 72 ได้กำหนดหน้าที่คณะกรรมการตรวจการจ้างไว้ดังนี้.
“ข้อ 72 คณะกรรมการตรวจการจ้างมีหน้าที่ดังนี้
(1) ตรวจสอบรายงานการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง และเหตุการณ์แวดล้อมที่ผู้ควบคุมงานรายงานโดยตรวจสอบกับแบบรูปรายการละเอียด และข้อกำหนดในสัญญาทุกสัปดาห์รวมทั้งรับทราบหรือพิจารณาการ สั่งหยุดงาน หรือพักงานของผู้ควบคุมงาน แล้วรายงานหัวหน้าส่วนราชการเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
(2) การดำเนินการตาม (1) ในกรณีมีข้อสงสัยหรือมีกรณีที่เห็นว่าตามหลักวิชาการช่างไม่น่าจะเป็นไปได้ ให้ออกตรวจงานจ้าง ณ สถานที่ที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือที่ตกลงให้ทำงานจ้างนั้นๆ โดยให้มีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติม หรือตัดทอนงานจ้างได้ตามที่เห็นสมควร และตามหลักวิชาการช่างเพื่อให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญา
(3) โดยปกติให้ตรวจผลงานที่ผู้รับจ้างส่งมอบภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ประธานกรรมการได้รับทราบการส่งมอบงาน และให้ทำการตรวจรับให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วที่สุด
(4) เมื่อตรวจเห็นว่าเป็นการถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาแล้ว ให้ถือว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานครบถ้วนตั้งแต่วันที่ผู้รับจ้างส่งงานจ้างนั้นและให้ทำใบรับรองผลการปฏิบัติงานทั้งหมดหรือเฉพาะงวด แล้แต่กรณี โดยลงชื่อไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อย 2 ฉบับ มอบให้แก่ผู้รับจ้าง 1 ฉบับ และเจ้าหน้าที่พัสดุ 1 ฉบับ เพื่อทำการเบิกจ่ายเงินตามระเบียบว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินจากคลัง และรายงานให้หัวหน้าส่วนราชการทราบ
(5)ในกรณีที่เห็นว่าผลงานที่ส่งมอบทั้งหมดหรืองวดใดก็ตามไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดใน สัญญา ให้รายงานหัวหน้าส่วนราชการผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุเพื่อทราบหรือสั่งการแล้วแต่กรณี
(6) ในกรณีที่กรรมการตรวจการจ้างบางคนไม่ยอมรับงานโดยทำความเห็นแย้งไว้ให้เสนอหัวหน้าส่วนราชการเพื่อพิจารณาสั่งการ ถ้าหัวหน้าส่วนราชการสั่งการให้ตรวจรับงานจ้างนั้นไว้ จึงจะดำเนินการตาม (4)”
กล่าวโดยสรุป คือจะต้องทำการตรวจการปฏิบัติงานของผู้ควบคุมงาน ผู้รับจ้างและตรวจการจ้างให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด หากมีปัญหาหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติรายงานให้หัวหน้าส่วนราชการทราบหรือสั่งการแล้วแต่กรณี
1.2.2 ข้อกำหนดเงื่อนไขในสัญญา
คณะกรรมการตรวจการจ้าง ได้รับแต่งตั้งจากผู้ว่าจ้างให้ทำหน้าที่นอกจากจะต้องปฏิบัติตามข้อ 1.2.1 แล้ว ยังมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขข้อกำหนดในสัญญาด้วย ซึ่งสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญมี ดังนี้.-
(1) พิจารณาวินิจฉัย กรณีข้อความเอกสารแนบท้ายสัญญาขัดแย้งกันเอง จะต้องวินิจฉัยว่าจะให้ปฏิบัติตามข้อความใด (สัญญา ข้อ 2)
(2) การตรวจการจ้างตามสัญญา ข้อ 13 ได้กำหนดไว้ว่า
“ข้อ 13. การตรวจงานจ้าง
ถ้าผู้ว่าจ้างแต่งตั้งกรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงานหรือบริษัทที่ปรึกษา เพื่อควบคุมการทำงานของผู้รับจ้าง กรรมการตรวจการจ้างหรือผู้ควบคุมหรือบริษัทที่ปรึกษานั้นมีอำนาจเข้าไปตรวจการงานในโรงงานและสถานที่ที่กำลังก่อสร้างได้ทุกเวลา และผู้รับจ้างจะต้องอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือในการนั้นตามสมควร
การที่มีกรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงานหรือบริษัทที่ปรึกษาหาทำให้ผู้รับจ้างพ้นความรับผิดชอบตามสัญญานี้ข้อหนึ่งข้อใดไม่”
กล่าวโดยสรุป คือ กรรมการตรวจการจ้างมีอำนาจเข้าไปตรวจในโรงงานสถานที่ก่อสร้างได้ทุกเวลา โดยผู้รับจ้างจะต้องให้ความร่วมมือ กรณีที่การตรวจการจ้างหรือมีการรับงานจ้างตามที่ผู้รับจ้างส่งงานแล้วไม่ได้ทำให้ผู้รับจ้างพ้นความรับผิดชอบตามเงื่อนไขในสัญญาแต่อย่างใด
(3) แบบรูปและรายการละเอียดคลาดเคลื่อน ตามสัญญาข้อ 14 ได้กำหนดไว้ว่า
“ข้อ 14. แบบรูปและรายการละเอียดคลาดเคลื่อน
ผู้รับจ้างจะต้องรับรองว่าได้ตรวจสอบและทำความเข้าใจในแบบรูปรายการละเอียดโดยถี่ถ้วนแล้ว หากปรากฏว่าแบบรูปและรายการละเอียดนั้นผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปจากหลักการทางวิศวกรรมหรือทางเทคนิค ผู้รับจ้างตกลงที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของกรรมการตรวจการจ้างหรือผู้ควบคุมงานหรือบริษัทที่ปรึกษาที่ผู้ว่าจ้างแต่งตั้งเพื่อให้งานแล้วเสร็จบริบูรณ์โดยจะคิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มขึ้นจากผู้ว่าจ้างไม่ได้ ”
กล่าวโดยสรุป คือ เป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างต้องตรวจสอบทำความเข้าใจแบบรูปและรายการละเอียดกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับแบบรูปและรายการละเอียดผู้รับจ้างต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของกรรมการตรวจการจ้างโดยจะคิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มขึ้นอีกไม่ได้
(4) การควบคุมงานโดยผู้ว่าจ้าง ตามสัญญา ข้อ 15. ได้กำหนดไว้ว่า
“ข้อ 15. การควบคุมงานโดยผู้ว่าจ้าง
ผู้รับจ้างตกลงว่า กรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงานหรือบริษัทที่ปรึกษาที่ผู้ว่าจ้างแต่งตั้ง มีอำนาจที่จะตรวจสอบและควบคุมงานเพื่อให้เป็นไปตามเอกสารสัญญา และมีอำนาจที่จะสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือตัดทอนซึ่งงานตามสัญญานี้ หากผู้รับจ้างขัดขืนไม่ปฏิบัติตาม กรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงาน หรือบริษัทที่ปรึกษามีอำนาจที่จะสั่งให้หยุดกิจการนั้นชั่วคราวได้ ความล่าช้าในกรณีเช่นนี้ผู้รับจ้างจะถือเป็นเหตุขอขยายวันทำการออกไปมิได้ ”
กล่าวโดยสรุป คือ กรรมการตรวจการจ้างมีอำนาจตรวจสอบเอกสารต่างๆ แก้ไขเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือตัดทอนงานตามความเหมาะสม ผู้รับจ้างต้องปฏิบัติตาม หากขัดขืน กรรมการตรวจการจ้างมีอำนาจสั่งหยุดงานชั่วคราวได้ และผู้รับจ้างจะนำเหตุนี้มาขอขยายอายุสัญญาไม่ได้
1.3 ขั้นตอนในการตรวจการจ้าง
ขั้นตอนในการตรวจการจ้างกล่าวโดยสรุปมีขั้นตอนในการดำเนินการ ดังนี้.-
(1) ผู้รับจ้างมีหนังสือส่งงานถึงหน่วยงานเจ้าของสัญญา (ผู้ว่าจ้าง) หรือผู้ควบคุมงาน
(2) ผู้ควบคุมงาน ตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้อง ก่อนบันทึกเสนอถึงประธานกรรมการตรวจการจ้าง
(3) ประธานกรรมการตรวจการจ้าง นัดวันเวลาสถานที่ทำการตรวจการจ้างแจ้งให้กรรมการตรวจการจ้างทุกท่านทราบ
(4) กรรมการตรวจการจ้างทุกท่าน ลงนามรับทราบวัน เวลา สถานที่ ทำการตรวจรับ และไปทำการตรวจรับตามกำหนด
(5) เห็นว่าการส่งงานถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามรูปแบบ และข้อกำหนดสัญญา ลงนามในใบรับรองผลการปฏิบัติงาน โดยทำอย่างน้อย 2 ฉบับ ให้ผู้รับจ้าง 1 ฉบับ และเจ้าหน้าที่พัสดุ 1 ฉบับ
(หากจะให้สะดวกไม่มีปัญหาทางปฏิบัติ ผู้ควบคุมงานควรเก็บไว้ 1 ฉบับ ให้เจ้าหน้าที่พัสดุ 2 ฉบับ เพื่อเก็บแนบเรื่อง 1 ฉบับ และส่งไปเบิกจ่ายเงินอีก 1 ฉบับ)
(6) กรณี ผลงานที่ส่งมอบไม่เป็นไปตามรูปแบบและข้อกำหนดสัญญา แจ้งให้ผู้รับจ้างแก้ไข รายงานให้หน่วยงานผู้จัดทำสัญญาทราบหรือสั่งการแล้วแต่กรณี
(7) มติของคณะกรรมการตรวจการจ้างให้ถือมติเอกฉันท์ (ไม่ใช่เสียงข้างมาก) กรณีกรรมการตรวจการจ้างบางคนทำความเห็นแย้งไว้ ให้เสนอหัวหน้าส่วนราชการพิจารณาสั่งการ ถ้าสั่งการให้รับก็ให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการตรวจรับ และลงนามในใบรับรองผลการปฏิบัติงานต่อไป
(8) การตรวจการจ้างโดยปกติต้องตรวจสอบทั้งปริมาณและคุณภาพกล่าวคือ
- ปริมาณ ตรวจสอบว่าทำงานได้ปริมาณครบถ้วนถูกต้อง ปริมาณงานจริงกับที่ขอส่งงานตรงกันหรือไม่
- คุณภาพ ตรวจสอบว่าวัสดุที่นำมาใช้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดหรือไม่ หากต้องทดลองผลทดลองต้องใช้ได้ การตรวจการจ้างจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อการส่งมอบงานได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ จึงจะรับงานและส่งเบิกจ่ายเงินค่างานต่อไปได้
1.4 ระยะเวลาในการตรวจการจ้าง
ระยะเวลาตรวจการจ้าง นอกจากจะบุไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ข้อ 72 แล้ว ยังมีหนังสือของสำนักนายกรัฐมนตรีซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับระยะเวลาในการตรวจการจ้างงานก่อสร้าง ตามหนังสือที่ นร 1305/ว 5855 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2544 สรุปได้ ดังนี้.-
1.4.1 แบบราคาเหมารวม (Lump Sum) ทุกราคาค่างาน
- แต่ละงวดงาน 3 วันทำการ
- งวดสุดท้าย 5 วันทำการ
1.4.2 แบบราคาต่อหน่วย (Unit Cost) ทุกราคาค่างาน
- แต่ละงวดงาน 3 วันทำการ
- งวดสุดท้าย 5 วันทำการ
โดยมีหลักเกณฑ์ประกอบด้วยว่า
(1) ต้องเร่งรัดดำเนินการตรวจการจ้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ไม่ควรเกินระยะเวลาตามที่กำหนดข้างต้น
(2) การนับวันดำเนินการของคณะกรรมการตรวจการจ้าง ให้นับวันถัดจากวันที่ผู้ควบคุมงานได้ ดำเนินการแล้วเสร็จและรายงานให้ประธานฯ ทราบ
(3) กรณีดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาให้รายงานหัวหน้าหน่วยงานเจ้าของสัญญา พร้อมเหตุผลความจำเป็นและแจ้งให้ผู้รับจ้างทราบด้วย
กล่าวโดยสรุปคือ คณะกรรมการตรวจการจ้าง จะต้องทำการตรวจการจ้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด และจะต้องไม่เกินระยะเวลาตามที่กล่าวมาข้างต้น หากเกินระยะเวลาต้องรายงานหัวหน้าหน่วยงานเจ้าของสัญญา พร้อมเหตุผลความจำเป็น และสำเนาแจ้งให้ผู้รับจ้างทราบด้วย และมติของคณะกรรมการตรวจการจ้างให้ถือมติเอกฉันท์ (ไม่ใช่เสียงข้างมาก)
1.5 หากท่านเป็นกรรมการตรวจการจ้างควรทำอย่างไร
ถ้าท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้าง ท่านควรดำเนินการ ดังนี้.-
(1) ศึกษาเงื่อนไข ข้อกำหนดในสัญญา แบบรูปรายละเอียดการก่อสร้าง เอกสารแนบท้ายสัญญา ให้เข้าใจก่อนกำการตรวจการจ้าง เช่น
- มีเอกสารแนบท้ายสัญญาอะไรบ้าง เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากข้อความในเอกสารแนบท้ายสัญญาขัดกับในสัญญาให้ใช้ข้อความตามสัญญา กรณีข้อความเอกสารแนบท้ายสัญญาขัดกันเอง ผู้รับจ้างต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ว่าจ้าง
- เงื่อนไขการจ่ายเงิน การจ่ายเงินล่วงหน้า การหักเงินประกันผลงาน การปรับ ฯลฯ ในสัญญากำหนดไว้อย่างไร
(2) ทำการตรวจการจ้างตามหน้าที่ที่กำหนด ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 72 (ตามข้อ 1.2 – ข้อ 1.3)
(3) ทำการตรวจการจ้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ไม่เกินระยะเวลาตามที่ระเบียบฯ กำหนด (ตามข้อ 1.4)
(4) ลงนามในใบรับรองผลการปฏิบัติงาน (Payment) และใบแจ้งสงวนสิทธิ์การปรับ ตามสัญญาจ้าง ข้อ 17 (กรณีมีการปรับ)
(5) จะต้องเป็นผู้ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหัวหน้าส่วนราชการ กรณีมีการแก้ไขสัญญา หรือ ขยายระยะเวลาทำการ หรือการงด หรือลดค่าปรับ ตามนัยหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร(กวพ) 1305/ว 11948 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2543
(6) การตรวจการจ้างคณะกรรมการฯ ต้องมาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง มติของคณะกรรมการฯ ต้องเป็นเอกฉันท์ กรณีมีกรรมการบางคนมีความเห็นแย้งให้บันทึกความเห็นเสนอหัวหน้าหน่วยงานเจ้าของสัญญา (หัวหน้าส่วนราชการ) พิจารณาสั่งการ เมื่อมีการสั่งการมาอย่างไรให้ดำเนินการตามนั้น
2. ผู้ควบคุมงาน
2.1 การแต่งตั้งผู้ควบคุมงาน
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ข้อ 37 ได้กำหนดการแต่งตั้งผู้ควบคุมงานไว้ สรุปได้ ดังนี้.-
(1) หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้แต่งตั้ง
(2) เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญทางด้านช่างตามลักษณะของงานที่จ้าง
(3) จะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น ต้องได้รับความยินยอมจากหัวหน้าส่วนราชการผู้นั้น
(4) กรณีต้องใช้ความรู้ความชำนาญหลายด้าน จะแต่งตั้งเป็นเฉพาะด้าน หรือกลุ่มบุคคลก็ได้
(5) ผู้ควบคุมงานควรมีวุฒิตามที่ผู้ออกแบบเสนอแนะ โดยปกติต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่า ปวช.
(6) จะจ้างที่ปรึกษาเป็นผู้ควบคุมงานแทนข้าราชการหรือลูกจ้างประจำก็ได้
2.2 หน้าที่ของผู้ควบคุมงาน
2.2.1 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ข้อ 73 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมงานไว้ ดังนี้.-
“ข้อ 73 ผู้ควบคุมงานมีหน้าที่ ดังนี้
(1) ตรวจและควบคุมงาน ณ สถานที่ที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือที่ตกลงให้ทำงานจ้างนั้นๆ ทุกวัน ให้เป็นไปตามแบบรูป รายการละเอียด และข้อกำหนดในสัญญาทุกประการ โดยสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมหรือตัดทอนงานจ้างได้ตามที่เห็นสมควร และตามหลักวิชาช่างเพื่อให้เป็นไปตามแบบรูป รายการละเอียด และข้อกำหนดในสัญญา ถ้าผู้รับจ้างขัดขืนไม่ปฏิบัติตามก็สั่งให้หยุดงานนั้นเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดแล้วแต่กรณีไว้ก่อนจนกว่าผู้รับจ้างจะยอมปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำสั่ง และให้รายงานคณะกรรมการตรวจการจ้างทันที
(2) ในกรณีที่ปรากฏว่าแบบรูปรายการละเอียด หรือข้อกำหนดในสัญญา มีข้อความขัดกันหรือเป็นที่คาดหมายได้ว่าถึงแม้ว่างานนั้นจะได้เป็นไปตามแบบรูป รายการละเอียด และข้อกำหนดในสัญญา แต่เมื่อสำเร็จแล้วจะไม่มั่นคงแข็งแรง หรือไม่เป็นไปตามหลักวิชาช่างที่ดี หรือไม่ปลอดภัย ให้สั่งพักงานนั้นไว้ก่อน แล้วรายงานคณะกรรมการตรวจการจ้างโดยเร็ว
(3) จดบันทึกสภาพการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมเป็นรายวันพร้อมทั้งผลการปฏิบัติงาน หรือการหยุดงานและสาเหตุที่มีการหยุดงานอย่างน้อย 2 ฉบับ เพื่อรายงานให้คณะกรรมการตรวจการจ้างทราบทุกสัปดาห์ และเก็บรักษาไว้เพื่อมอบให้แก่เจ้าหน้าที่พัสดุเมื่อเสร็จงานแต่และงวด โดยถือว่าเป็นเอกสารสำคัญของทางราชการเพื่อประกอบการตรวจสอบของผู้มีหน้าที่
การบันทึกการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างให้ระบุรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติงานและวัสดุที่ใช้ด้วย
(4) ในวันกำหนดลงมือทำการของผู้รับจ้างตามสัญญา และในวันถึงกำหนดส่งมอบงานแต่ละงวดให้รายงานผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างว่าเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ ให้คณะกรรมการตรวจการจ้างทราบภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันถึงกำหนดนั้นๆ ”
กล่าวโดยสรุป คือ ผู้ควบคุมงานจะต้องศึกษาสัญญา รูปแบบรายละเอียดหรือข้อกำหนดในสัญญา ควบคุมการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างตลอดเวลาอายุสัญญา มีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลง แก้ไขเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร พร้อมบันทึกการปฏิบัติงานตลอดสัญญาเป็นรายวัน และทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างผู้รับจ้าง และคณะกรรมการตรวจการจ้าง ขณะปฏิบัติงานและในการตรวจรับงานแต่ละครั้ง
2.2.2 ข้อกำหนดเงื่อนไขในสัญญา
ผู้ควบคุมงาน นอกจากจะมีหน้าที่ตาม ข้อ 2.2.1 แล้ว ยังต้องมีหน้าที่ดำเนินการตามเงื่อนไขข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา สรุปประเด็นสำคัญมีดังนี้
(1) กรณีรูปแบบรายการละเอียด ข้อกำหนดในสัญญา มีข้อความหรือรายการละเอียดขัดแย้งกัน เสนอข้อคิดเห็นเสนอคณะกรรมการตรวจการจ้าง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยหรือดำเนินการในขั้นตอนต่อไปเพื่อให้ได้ข้อปฏิบัติที่ชัดเจน (สัญญา ข้อ 2)
(2) มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบงานในโรงงานและสถานที่ที่กำลังก่อสร้างได้ตลอดเวลา (สัญญาข้อ 13)
(3) มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งการหรือเสนอต่อคณะกรรมการตรวจการจ้าง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยสั่งการ กรณีแบบรูปและรายการละเอียดคลาดเคลื่อน จากหลักวิศวกรรม หรือทางเทคนิค (สัญญา ข้อ 14)
(4) มีอำนาจตรวจสอบและควบคุมงานให้เป็นไปตามเอกสารสัญญา และมีอำนาจสั่งแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือตัดทอน หากผู้รับจ้างขัดขืนไม่ปฏิบัติตามมีอำนาจสั่งให้หยุดงานชั่วคราว ซึ่งผู้รับจ้างจะถือเป็นเหตุขอขยายวันทำการออกไปมิได้ (สัญญาข้อ 15)
กล่าวโดยสรุป คือ ผู้ควบคุมงานมีอำนาจวินิจฉัยสั่งการ หรือเสนอข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการตรวจการจ้าง สามารเข้าไปตรวจสอบโรงงานหรือสถานที่ก่อสร้างได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหรือตัดทอนงานบางส่วนตามความเหมาะสม แล้วรายงานให้คณะกรรมการตรวจการจ้างทราบโดยเร็ว
2.3 ระยะเวลาในการตรวจการจ้าง
เมื่อผู้รับจ้างส่งมอบงานจ้าง ผู้ควบคุมงานจะต้องตรวจสอบงานจ้างทั้งหมดว่าเป็นไปตามเนื้องานที่ปฏิบัติงานจริง และ/หรือสอดคล้องกับรูปแบบข้อกำหนดในสัญญาหรือไม่ ก่อนเสนอความเห็นต่อประธานคณะกรรมการตรวจการจ้าง นัดทำการตรวจรับงานจ้างต่อไป ซึ่งตามหนังสือ ที่ นร 1305/ ว 5855 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2544 ได้กำหนดระยะเวลาของผู้ควบคุมงาน สรุปได้ ดังนี้.-
2.3.1 แบบราคาเหมารวม (Lump Sum)
- ทุกราคาค่างาน และทุกงวดงาน 3 วันทำการ
2.3.2 แบบราคาต่อหน่วย (Unit cost) ราคาค่างาน
- ไม่เกิน 30 ลบ.
รายงวด 4 วันทำการ
งวดสุดท้าย 8 วันทำการ
- ไม่เกิน 60 ลบ.
รายงวด 8 วันทำการ
งวดสุดท้าย 12 วันทำการ
- ไม่เกิน 100 ลบ.
รายงวด 12 วันทำการ
งวดสุดท้าย 16 วันทำการ
- เกิน 100 ลบ.
รายงวด 16 วันทำการ
งวดสุดท้าย 20 วันทำการ
โดยมีหลักเกณฑ์ประกอบด้วยว่า
(1) ผู้ควบคุมงานต้องตรวจสอบงานจ้างให้เสร็จโดยเร็วที่สุด ไม่เกินระยะเวลาตามที่กำหนดข้างต้น แล้วรายงานประธานคณะกรรมการตรวจการจ้าง
(2) ผู้รับจ้างต้องมีหนังสือส่งมอบงาน (กับสารบรรณ เจ้าหน้าที่พัสดุ หรือผู้ควบคุมงาน) แล้วลงรับทันทีอย่างช้าในวันทำการถัดไป
(3) การนับวันของผู้ควบคุมงาน นับถัดจากวันที่ได้รับมอบหนังสือส่งมอบงาน กรณีดำเนินการไม่เสร็จภายในกำหนด ให้รายงานประธานคณะกรรมการตรวจการจ้าง พร้อมด้วยเหตุผลความจำเป็น
กล่าวโดยสรุป คือ ผู้ควบคุมงานเมื่อรับหนังสือส่งมอบงานต้องรีบตรวจสอบงานจ้างให้เสร็จโดยเร็ว ไม่เกินระยะเวลาที่กำหนด หากเสร็จไม่ทันกำหนดต้องรายงานประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างทราบพร้อมเหตุผล
2.4 หากท่านเป็นผู้ควบคุมงานควรทำอย่างไร
ถ้าท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมงาน หรือเป็นผู้ควบคุมงานและเป็นกรรมการตรวจการจ้างด้วย ควรปฏิบัติ ดังนี้.-
(1) ศึกษาเงื่อนไขข้อกำหนดในสัญญา แบบรูปรายการละเอียดเอกสารแนบท้ายสัญญา ที่กำหนดให้เข้าใจ และควบคุมผู้ว่าจ้างให้ดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญา
(2) ถึงกำหนดวันเข้าทำงานตามสัญญาผู้รับจ้างเข้าทำงานหรือไม่ และครบกำหนดตามสัญญาผู้รับจ้างทำงานแล้วเสร็จหรือไม่ ต้องรายงานให้หน่วยงานเจ้าของสัญญาทราบ
(3) ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้รับจ้างเข้าพื้นที่ หรือทำงานโดยไม่มีอุปสรรคการกีดขวางการก่อสร้าง
(4) จดบันทึกผลการปฏิบัติงานเป็นรายวัน รายงานประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างทราบทุกสัปดาห์มีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลง แก้ไขได้ตามสมควร
(5) รับหนังสือส่งมอบงานพร้อมตรวจผลงานที่ทำได้ว่าถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ เสนอประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างภายในเวลาที่กำหนด (ตาม ข้อ 2.3)
(6) ร่วมทำการตรวจรับงานจ้างกับคณะกรรมการตรวจการจ้าง
(7) ลงนามในใบรับรองผลการปฏิบัติงาน (Payment)
(8) กรณีแก้ไขงานและแก้ไขสัญญาหรือขยายเวลาทำการหรืองด หรือลดการปรับ จะต้องเสนอให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของผู้มีอำนาจด้วย
(9) กรณีผู้รับจ้างส่งมอบหนังสือส่งมอบงานให้กับผู้ควบคุมงานโดยตรง ให้รีบลงรับหนังสือทันที หรืออย่างช้าวันรุ่งขึ้น และถือว่ารับหนังสือแทนผู้ว่าจ้าง
(10) เมื่องานแล้วเสร็จส่งมอบหลักฐานเอกสารทั้งหมดที่ดำเนินการตามสัญญาให้กับเจ้าหน้าที่พัสดุเก็บไว้เป็นหลักฐานเอกสารสำคัญ
เครดิต : คุณศักดิ์ชัย ขำเจริญ, เกร็ดความรู้การตรวจรับพัสดุหรืองาน และการควบคุมงาน , อธิวัฒน์ ดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...