23 เม.ย. 2560

คำสั่งลงโทษวินัยกับคดีอาญา

         1.ในการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการ ที่ได้กระทำความผิดนั้น อาจถูกดำเนินการ ทางวินัยโดยผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง หรือมีการชี้มูลความผิด มาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ป.ป.ท. หรือสตง. ก็เป็นกรณีที่ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งต้องพิจารณาดำเนินการตามที่กฎหมายนั้นกำหนดไว้ และนำเสนอ อ.ก.พ.สามัญที่มีอำนาจพิจารณาไป และ สั่งลงโทษไปตามมตินั้น

        2.ขณะเดียวกัน ส่วนราชการอาจจะ ต้องดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ ตำรวจเพื่อดำเนินคดีอาญาอีกด้วย โดยคดีอาญา ก็ว่าไปตามกฎหมายเช่นกัน

           3.ผู้ถูกลงโทษทางวินัยก็ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ซึ่งอาจจะฟังขึ้นหรือยกอุทธรณ์ก็ได้ส่วนคดีอาญาก็เดินไปตามกระบวนการจนถึงที่สุด ศาลอาจพิจารณายกฟ้องหรือลงโทษจำคุกก็ได้

       4.สิ่งที่เป็นประเด็นครั้งนี้มีข้อเท็จจริง โดยสรุปว่า ส่วนราชการได้สั่งลงโทษไล่ข้าราชการคนหนึ่งออกจากราชการตามกรณีที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ต่อมาคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) พิจารณาอุทธรณ์แล้วลดโทษเป็นปลดออกจากราชการ ส่วนคดีอาญานั้น ศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษา ถึงที่สุดว่า จำเลยไม่มีความผิดพิพากษายกฟ้อง เช่นนี้ อดีตข้าราชการรายนี้จึงยื่นเรื่องที่กระทรวงเจ้าสังกัดขอให้ทบทวน คำสั่งลงโทษทางวินัย กระทรวงจึงได้หารือต่อก.พ.ว่า กรณีเหตุแห่งการลงโทษเรื่องนี้สิ้นสุดตามคดีอาญาหรือไม่ และส่วนราชการจะรับบุคคลผู้นี้กลับเข้ารับราชการได้หรือไม่

             5.ก.พ.ได้พิจารณาเรื่องนี้แล้ว มีความเห็นโดยสรุปว่า แม้ต่อมาคดีอาญา ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องในมูลกรณีเดียวกันก็ตามแต่จะถือว่าเหตุที่ป.ป.ช.และอ.ก.พ.กระทรวงมีมติลงโทษสิ้นสุดลงตามผลของคดีอาญาไม่ได้เพราะการดำเนินการทางวินัยและการดำเนินคดีอาญาแยกต่างหากจากกัน

             (หนังสือสำนักงานก.พ.ที่ สร0904/ว4 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2509 ประกอบกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่อ.67/2547 และที่อ.142/2557 และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1406/2559) ดังนั้นส่วนราชการจึงไม่อาจ นำเหตุที่ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง มาเป็นเหตุผลในการยกเลิกคำสั่งลงโทษทางวินัยได้

          6.สำหรับประเด็นการขอยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพื่อกลับเข้ารับราชการนั้น โดยเหตุที่ผู้ถูกลงโทษได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ระหว่างพิจารณา จึงให้รอการพิจารณา ยกเว้นไว้ก่อนจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมี คำพิพากษา จึงจะนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง (หนังสือสำนักงานก.พ.ที่นร1011/ล1381 ลว 4 พ.ย.2559 และหนังสือสำนักงานก.พ. ที่นร1011/ล5 ลว 6 ม.ค. 2560)

เครดิต : ปฏิรูป , คอลัมน์: ราชการแนวหน้า : หนังสือพิมพ์แนวหน้า อาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 00:00:34 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...