23 เม.ย. 2560

ความรู้เกี่ยวกับ การลงโทษเป็นผู้ทิ้งงาน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

1. ความหมายของผู้ทิ้งงาน
เมื่อส่วนราชการดำเนินการจัดจ้าง ในบางครั้งเมื่อได้ผู้ชนะในการเสนอราคาหรือได้คู่สัญญากับทางราชการแล้วก็ตามแต่ก็ยังไม่อาจจะถือได้ว่าส่วนราชการนั้นจะประสบความสำเร็จในการจัดจ้างในครั้งนั้นเสมอไปด้วยเหตุที่ว่าผู้ชนะการเสนอราคาไม่เข้าทำสัญญา หรือเข้าทำสัญญาแล้วแต่ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญามีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งทำให้ส่วนราชการต้องดำเนินการให้ผู้ชนะในการเสนอราคาหรือคู่สัญญาเป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการทั้งนี้ เพื่อลงโทษและป้องกันมิให้ผู้ประกอบการรายนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการได้อีก
ผู้ทิ้งงาน คือ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีนิติสัมพันธ์กับส่วนราชการโดยปรากฏพฤติการณ์ตามเงื่อนไขของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 15 สัตต ข้อ 145 ทวิ ข้อ145 ตรี และข้อ 145 จัตวา และถูกผู้รักษาการตามระเบียบสั่งลงโทษให้เป็นผู้ทิ้งงานแล้ว
2. เหตุแห่งการทิ้งงาน
2.1 ผู้ได้รับการคัดเลือกแล้วไม่มาทำสัญญา หรือข้อตกลงภายในเวลาที่ทางราชการกำหนดส่วนราชการประกาศจัดจ้างดำเนินการจนกระทั่งได้ตัวผู้จะมาลงนามในสัญญากับทางราชการแล้วและส่วนราชการผู้ว่าจ้างให้มาทำสัญญาหรือข้อตกลงแต่ปรากฏว่า ผู้ประกอบการรายนั้นไม่มาทำสัญญาหรือข้อตกลง
2.2 คู่สัญญาหรือผู้รับจ้างช่วงที่ทางราชการอนุญาตให้รับช่วงงานได้ไม่ปฏิบัติตามสัญญาเมื่อส่วนราชการได้ลงนามในสัญญาแล้วปรากฏว่าผู้ประกอบการซึ่งเป็นคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่มีเหตุอันควรเช่น งานจ้างก่อสร้างเมื่อลงนามในสัญญาแล้ว คู่สัญญาไม่เข้าทำงาน โดยไม่มีเหตุผลของการไม่เข้าทำงานหรือมีเหตุผลแต่ฟังไม่ขึ้น ฯลฯ
2.3 คู่สัญญาไม่แก้ไขความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือข้อตกลง หรือพัสดุที่ซื้อหรือจ้างไม่ได้มาตรฐาน หรือวัสดุที่ใช้ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือข้อตกลงทำให้งานเสียหายอย่างร้ายแรง
2.4 งานก่อสร้างสาธารณูปโภคมีข้อบกพร่อง หรือไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ครบถ้วน
2.5 ผู้กระทำการขัดขวางการแข่งขันราคา หรือกระทำการโดยไม่สุจริตในการเสนอราคาเช่น การเสนอเอกสารอันเป็นเท็จ หรือใช้ชื่อบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอื่นมาเป็นผู้เสนอราคาแทน
3. การดำเนินการให้เป็นผู้ทิ้งงาน
3.1 เมื่อส่วนราชการระดับกรมหรือจังหวัดเจ้าของเรื่องที่จะดำเนินการจัดทำรายงานเรื่องที่อยู่ในหลักเกณฑ์การลงโทษให้เป็นผู้ทิ้งงาน จะต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน โดยให้ส่วนราชการระดับกรมหรือจังหวัดมีหนังสือแจ้งเหตุที่จะมีการพิจารณาลงโทษให้ผู้ประกอบการทราบและขอให้ชี้แจงเหตุผลข้อเท็จจริง พร้อมยื่นเอกสารหลักฐานประกอบ (ถ้ามี) ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่จะต้องไม่น้อยกว่า15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งทั้งนี้ โดยแจ้งไปด้วยว่า ถ้าไม่ชี้แจงภายในกำหนดเวลาจะถือว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรและจะพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงของทางราชการแต่เพียงฝ่ายเดียว
3.2 ในกรณีที่ผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำเกิดจากผู้บริหารให้ลงโทษผู้บริหาร(ผู้บริหาร หมายถึง หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคล) จะต้องแจ้งให้หุ้นส่วนผู้จัดการกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของบุคคลนั้น โดยให้ส่วนราชการแจ้งให้บุคคลดังกล่าวทราบหลักเกณฑ์การพิจารณาลงโทษผู้ทิ้งงานและให้ชี้แจงเหตุผลข้อเท็จจริงภายในเวลาที่กำหนดพร้อมกันไปด้วย
3.3 สำหรับการทิ้งงานตามข้อ 2.5 นั้น กำหนดให้ส่วนราชการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าบุคคลหรือนิติบุคคลดังกล่าว กระทำการขัดขวางการแข่งขันราคาหรือกระทำการโดยไม่สุจริตในการเสนอราคาสมควรเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ ให้แจ้งเหตุที่สงสัยไปให้ผู้เสนอราคาหรือเสนองานที่ถูกสงสัยทราบพร้อมทั้งให้ชี้แจงภายในเวลาที่กำหนดไม่น้อยกว่า15 วัน และให้ดำเนินการต่อไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาลงโทษผู้ทิ้งงานดังกล่าวข้างต้นอย่างไรก็ดี กรณีนี้ถ้าผู้กระทำการนั้นมิใช่เป็นผู้ริเริ่มให้มีการกระทำการดังกล่าวและให้ความร่วมมือเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของทางราชการนั้นได้รับการยกเว้นไม่เป็นผู้ทิ้งงานได้
3.4 เมื่อส่วนราชการได้รับคำชี้แจงจากผู้ประกอบการแล้วให้หัวหน้าส่วนราชการทำรายงานไปยังปลัดกระทรวงเจ้าสังกัดโดยเร็ว พร้อมทั้งเสนอความเห็นของตนเพื่อประกอบการพิจารณาของปลัดกระทรวงเจ้าสังกัดว่าผู้ประกอบการดังกล่าวสมควรเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ด้วย
3.5 เมื่อปลัดกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ประกอบการดังกล่าวสมควรเป็นผู้ทิ้งงานให้ปลัดกระทรวงเจ้าสังกัดส่งชื่อผู้ประกอบการไปยังปลัดกระทรวงการคลังผู้รักษาการตามระเบียบฯ เพื่อพิจารณาสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานต่อไป
4. การลงโทษผู้ทิ้งงาน
ห้ามส่วนราชการก่อนิติสัมพันธ์กับผู้ทิ้งงานที่ปลัดกระทรวงการคลังผู้รักษาการตามระเบียบฯ ได้ระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานและได้แจ้งเวียนชื่อแล้วทั้งในส่วนของเป็นผู้ทิ้งงานด้วยตัวเองไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลด้วยเหตุแห่งการทิ้งงานตามข้อ 2 และเป็นผู้บริหารของนิติบุคคล ตามข้อ 3.2 ด้วยการพิจารณาลงโทษผู้ทิ้งงาน นอกจากจะเป็นผู้ทิ้งงานของส่วนราชการแล้วยังหมายรวมถึงผู้ทิ้งงานของรัฐวิสาหกิจและองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานด้วย
หลักเกณฑ์การลงโทษผู้ทิ้งงาน มีดังนี้
1) การลงโทษผู้ทิ้งงานของส่วนราชการ
การลงโทษผู้ทิ้งงานเป็นมาตรการลงโทษที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสียหายของส่วนราชการจากผู้ทิ้งงานตามระเบียบฯข้อ 145 วรรคสอง กำหนดว่า “ห้ามส่วนราชการก่อนิติสัมพันธ์กับผู้ทิ้งงานที่ผู้รักษาการตามระเบียบฯ ได้ระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานและได้แจ้งเวียนชื่อแล้วเว้นแต่ผู้รักษาการ ตามระเบียบฯ จะสั่งเพิกถอนการเป็นผู้ทิ้งงาน” ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การลงโทษผู้ทิ้งงานตามระเบียบฯ ข้อ 145 ทวิ (๑) ถึง (๔) ข้อ 145 จัตวา กำหนดว่า
“ข้อ 145 ทวิ เมื่อปรากฏกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วไม่ยอมไปทำสัญญาหรือข้อตกลงภายในเวลาที่ทางราชการกำหนด
(2) เมื่อคู่สัญญาของทางราชการ หรือผู้รับจ้างช่วงที่ทางราชการอนุญาตให้รับช่วงงานได้ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้น
(3) พัสดุที่ซื้อหรือจ้างทำ เกิดข้อบกพร่องขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือข้อตกลง และไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องจากผู้จำหน่าย ผู้รับจ้าง หรือคู่สัญญาหรือพัสดุที่ซื้อหรือจ้างไม่ได้มาตรฐาน หรือวัสดุที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือข้อตกลงทำให้งานบกพร่องเสียหายอย่างร้ายแรง
(4) สำหรับงานก่อสร้างสาธารณูปโภค หากปรากฏว่าพัสดุหรือวัสดุที่ซื้อหรือจ้างหรือใช้โดยผู้รับจ้างช่างที่ทางราชการอนุญาตให้รับช่วงงานได้มีข้อบกพร่องหรือไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ครบถ้วนตาม (3) ข้อ145 จัตวา ในการจัดหาพัสดุตามระเบียบฯ นี้ หากมีเหตุอันควรสงสัยปรากฏในภายหลังว่าผู้เสนอราคาหรือผู้เสนองานรายหนึ่งหรือหลายรายไม่ว่าจะเป็นผู้เสนอราคาหรือผู้เสนองานที่ได้รับการคัดเลือกหรือไม่ก็ตามกระทำการอันเป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือกระการโดยไม่สุจริต เช่นการเสนอเอกสารอันเป็นเท็จ หรือใช้ชื่อบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอื่นมาแสนอราคาแทน ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าบุคคลดังกล่าวสมควรเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่โดยมีหนังสือแจ้งเหตุที่ทางราชการสงสัยไปยังผู้เสนอราคาหรือผู้เสนองานที่ถูกสงสัยทราบพร้อมทั้งให้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงภายในเวลาที่ทางราชการกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากส่วนราชการ”
2) การลงผู้ทิ้งงานตามระเบียบอื่น ที่ไม่อยู่ในบังคับของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่
2.1) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.2) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารราชการส่วนตำบลพ.ศ. 2538 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.3) ข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครว่าด้วยการพัสดุ
2.4) ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุของรัฐวิสาหกิจต่างๆเช่น การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น
2.5) องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นต้น
การสั่งลงโทษให้เป็นผู้ทิ้งงานเป็นอำนาจของผู้รักษาการหรือผู้มีอำนาจตามระเบียบหรือข้อบังคับนั้นๆ และเมื่อจะแจ้งเวียนชื่อผู้ถูกลงโทษตามระเบียบอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้นหน่วยงานนั้นก็จะส่งให้ผู้รักษาการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใช้อำนาจพิจารณาแจ้งเวียนตามระเบียบฯข้อ 12 (6) และมติคณะรัฐมนตรีแจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ สร 0203/ว 70 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2524
5. วิธีดำเนินการแจ้งเป็นผู้ทิ้งงาน
5.1 ส่วนราชการเจ้าของเรื่องที่ดำเนินการจัดหาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นผู้รับผิดชอบในการแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาลงโทษผู้ทิ้งงานและผลการลงโทษผู้ทิ้งงานตามระเบียบ
5.2 เมื่อมีกรณีที่จะเสนอเรื่องการลงโทษผู้ทิ้งงานตามระเบียบฯข้อ 155 ทวิ และข้อ 145 ตรี ให้ส่วนราชการระดับกรมหรือจังหวัดมีหนังสือแจ้งเหตุที่จะมีการพิจารณาลงโทษให้ผู้ประกอบการทราบ และขอให้ชี้แจงเหตุผลข้อเท็จจริงพร้อมยื่นเอกสารหลักฐานประกอบ (ถ้ามี) ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่จะต้องไม่น้อยกว่า 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ทั้งนี้โดยแจ้งไปด้วยว่า ถ้าไม่ชี้แจงภายในกำหนดเวลาจะถือว่าไม่มีเหตุผลอันสมควร และจะพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงของทางราชการแต่เพียงฝ่ายเดียว
5.3 ในกรณีที่ผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล และการพิจารณาลงโทษผู้ทิ้งงานที่มีพฤติการณ์เกิดขึ้นภายหลังระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2541 ใช้บังคับแล้วตามนัยหลักเกณฑ์หนังสือซ้อมความเข้าใจของ กวพ.ต้องดำเนินการตามระเบียบฯ ข้อ 145 ฉ ด้วย ถ้าส่วนราชการเห็นว่าการกระทำอันเป็นเหตุให้ถูกลงโทษให้เป็นผู้ทิ้งงานเกิดจากหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของบุคคลนั้น ให้ส่วนราชการแจ้งให้บุคคลดังกล่าวทราบหลักเกณฑ์การพิจารณาลงโทษผู้ทิ้งงานและให้ชี้แจงเหตุผลข้อเท็จจริงภายในเวลาที่กำหนด
5.4 เมื่อส่วนราชการได้รับคำชี้แจงจากผู้ประกอบการแล้วให้หัวหน้าส่วนราชการทำรายงานไปยังปลัดกระทรวงโดยเร็ว พร้อมทั้งเสนอความเห็นของตนเพื่อประกอบการพิจารณาของปลัดกระทรวงว่าผู้ประกอบการดังกล่าวสมควรเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ด้วยหากผู้ประกอบการไม่ชี้แจงภายในกำหนดเวลาให้พิจารณาไปตามข้อเท็จจริงของทางราชการแต่เพียงฝ่ายเดียวต่อไป
5.5 ถ้าปลัดกระทรวงพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ประกอบการดังกล่าวสมควรเป็นผู้ทิ้งงานให้ปลัดกระทรวงส่งชื่อผู้ประกอบการไปยังปลัดกระทรวงการคลังผู้รักษาการตามระเบียบเพื่อสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน
6. เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาลงโทษผู้ทิ้งงาน
6.1 กรณีผู้ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วไม่ยอมไปทำสัญญาภายในเวลาที่ทางราชการกำหนดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
- ประกาศและเอกสารสอบราคาหรือประกาศประกวดราคา/หนังสือเชิญชวนที่ปรึกษา
- ใบเสนอราคาหรือข้อเสนอด้านราคา
- ผลการพิจารณาของคณะกรรมการที่ดำเนินการหาตัวผู้ขาย/ผู้รับจ้าง/ผู้เสนองาน
- หลักฐานการติดต่อเร่งรัด ผู้เสนอราคา/ผู้เสนองาน
- สำเนาหนังสือการเปิดโอกาสให้ชี้แจงเหตุผลก่อนการพิจารณาลงโทษให้เป็นผู้ทิ้งงานพร้อมไปรษณีย์ตอบรับ
- สำเนาหนังสือชี้แจงของผู้เสนอราคา/ผู้เสนองาน (ถ้ามี)
- รายละเอียดการซื้อ/จ้าง รายใหม่ (ถ้ามี)
- แบบ ทง. 1
6.2 กรณีผู้ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
- ประกาศสอบราคา/ประกาศประกวดราคา/หนังสือเชิญชวนที่ปรึกษา
- ใบเสนอราคาหรือข้อเสนอด้านราคา
- ผลการพิจารณาของคณะกรรมการที่ดำเนินการหาตัวผู้ขายหรือผู้รับจ้าง/ผู้เสนองาน
- หลักฐานการติดต่อเร่งรัดผู้ขายหรือผู้รับจ้าง
- หนังสือแจ้งสงวนสิทธิ์ต่าง ๆ
- สัญญาซื้อขาย/สัญญาจ้าง/สัญญาจ้างที่ปรึกษา/สัญญาจ้างออกแบบและควบคุมงาน
- หนังสือขอขยายระยะเวลาการส่งมอบ
- หนังสือบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง
- บันทึกผู้ควบคุมงาน
- บันทึกคณะกรรมการตรวจรับ/ตรวจการจ้าง
- สำเนาหนังสือการเปิดโอกาสให้ชี้แจงเหตุผลก่อนการพิจารณาลงโทษให้เป็นผู้ทิ้งงานพร้อมไปรษณีย์ตอบรับ
- สำเนาหนังสือชี้แจงของผู้ขาย/ผู้รับจ้าง (ถ้ามี)
- รายละเอียดการซื้อ/จ้าง รายใหม่ (ถ้ามี)
- แบบ ทง. 2
6.3 กรณีผู้ที่ไม่แก้ไขความชำรุดบกพร่องหรือกระทำการโดยไม่สุจริต
- ประกาศสอบราคา/ประกาศประกวดราคา/หนังสือเชิญชวนที่ปรึกษา
- ใบเสนอราคาหรือข้อเสนอด้านราคา
- ผลการพิจารณาของคณะกรรมการที่ดำเนินการหาตัวผู้ขาย/ผู้รับจ้าง/ผู้เสนองาน
- หลักฐานการติดต่อเร่งรัดผู้ขาย/ผู้รับจ้าง
- หนังสือแจ้งสงวนสิทธิต่าง ๆ
- สัญญาชื้อขาย/สัญญาจ้าง/สัญญาจ้างที่ปรึกษา/สัญญาจ้างออกแบบและควบคุมงาน
- หนังสือขอขยายระยะเวลาการส่งมอบ
- หนังสือบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง
- บันทึกผู้ควบคุมงาน
- บันทึกคณะกรรมการตรวจรับ/ตรวจการจ้าง
- สำเนาหนังสือการเปิดโอกาสให้ชี้แจงเหตุผลก่อนการพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงานพร้อมไปรษณีย์ตอบรับ
- สำเนาหนังสือชี้แจงของผู้เสนอราคา/เสนองาน/คู่สัญญา (ถ้ามี)
- รายละเอียดการซื้อ/จ้าง รายใหม่ (ถ้ามี)
- แบบ ทง. 3
7. การสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน
เมื่อผู้รักษาการตามระเบียบพิจารณาตามความเห็นของ กวพ. แล้ว และเห็นว่านิติบุคคลดังกล่าวสมควรเป็นผู้ทิ้งงานจะต้องจัดทำคำสั่งลงโทษผู้ทิ้งงานตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 37 และแจ้งให้ผู้ถูกลงโทษเป็นผู้ทิ้งงานทราบต่อไปตามระเบียบข้อ 145 วรรคห้า กำหนดว่า “เมื่อผู้รักษาการตามระเบียบได้พิจารณาหลังจากที่ได้ฟังความเห็นของกวพ. ตามข้อ 12 (6) แล้ว และเห็นว่าบุคคลดังกล่าวสมควรเป็นผู้ทิ้งงานก็ให้ผู้รักษาการตามระเบียบสั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทิ้งงาน โดยระบุชื่อผู้ทิ้งงานไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานพร้อมทั้งแจ้งเวียนชื่อผู้ทิ้งงานให้ส่วนราชการอื่นทราบ รวมทั้งแจ้งให้ผู้ทิ้งงานรายนั้นทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนด้วย”
นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคลและเป็นการลงโทษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2541 จะต้องดำเนินการตามระเบียบฯ ข้อ 145 ฉ ด้วย ซึ่งกำหนดว่า“ในกรณีที่นิติบุคคลใดถูกสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานตามข้อ 145 ทวิ หรือข้อ 145 จัตวา ถ้าการกระทำดังกล่าวเกิดจากหุ้นส่วนผู้จัดการกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้นให้ผู้รักษาการตามระเบียบนี้สั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทิ้งงานด้วย ในกรณีที่นิติบุคคลรายใดถูกสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานตามข้อ145 ทวิ หรือข้อ 145 จัตวา ให้คำสั่งดังกล่าวมีผลไปถึงนิติบุคคลอื่นที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกันซึ่งมีหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้นเป็นบุคลเดียวกันกับหุ้นส่วนผู้จัดการกรรมการผู้จัดการผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลที่ถูกพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงานด้วย
ในกรณีที่บุคคลธรรมดารายใดถูกสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานตามข้อ 145 ทวิ หรือข้อ 145 จัตวา ให้คำสั่งดังกล่าวมีผลไปถึงนิติบุคคลอื่นที่เข้าเสนอราคาหรือเสนองานซึ่งมีบุคคลดังกล่าวเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วย”
ในกรณีผู้รักษาการตามระเบียบเห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่สมควรเป็นผู้ทิ้งงานให้แจ้งผลการพิจารณาไปให้ปลัดกระทรวงทราบ
8. ผลของการเป็นผู้ทิ้งงาน
ห้ามส่วนราชการก่อนิติสัมพันธ์กับผู้ทิ้งงานที่ผู้รักษาการตามระเบียบได้ระบุชื่อไว้ในบัญชีราย ชื่อผู้ทิ้งงานและได้แจ้งเวียนชื่อแล้วเว้นแต่ผู้รักษาการตามระเบียบจะสั่งเพิกถอนการเป็นผู้ทิ้งงาน
9. การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษผู้ทิ้งงาน
ผู้ถูกลงโทษเป็นผู้ทิ้งงานจะต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ. 2539 มาตรา 44 และเจ้าหน้าที่จะต้องพิจารณาคำอุทธรณ์และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกิน30 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ในกรณีที่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองตามความเห็นของตนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว
กรณีเจ้าหน้าที่ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็จะต้องรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) ภายในกำหนดเวลา 30 วัน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มอบให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองพิจารณาอุทธรณ์และส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้ไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าวตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ. 2539 มาตรา 45
กรณีผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับผู้อุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ต่อไป
10. หลักเกณฑ์การทำขออุทธรณ์
(1) ต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งลงโทษเป็นผู้ทิ้งงาน(รองปลัดกระทรวงการคลังปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ผู้รักษาการตามระเบียบ)
(2) ระบุชื่อ และที่อยู่ของผู้อุทธรณ์และโทรศัพท์ที่ติดต่อได้โดยสะดวก
(3) ระบุชื่อหน่วยงานทางปกครองที่เกี่ยวข้อง
(4) สรุปการกระทำ ข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะอุทธรณ์ตามสมควร
(5) ลายมือชื่อผู้อุทธรณ์
เอกสารและพยานหลักฐานประกอบคำขออุทธรณ์ มีดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาหนังสือรับรองการจะทะเบียนนิติบุคคล
- สำเนาหนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
- เอกสารพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หากเป็นกรณีที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้เพราะอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่น ให้ระบุชื่อเอกสารและเหตุที่ไม่อาจแนบพยานหลักบานดังกล่าวได้
11. การเพิกถอนการเป็นผู้ทิ้งงาน
กรณีผู้ถูกลงโทษเป็นผู้ทิ้งงานประสงค์จะขอเพิกถอนการเป็นผู้ทิ้งงานซึ่งตามระเบียบฯ ไม่มีหลักเกณฑ์ข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าวไว้ ในทางปฏิบัติได้อาศัยหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติในการเพิกถอนผู้ทิ้งงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2504 แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นว 105/2504 ลงวันที่ 18 ตุลาคม2504 ได้พิจารณาเกี่ยวกับผู้ทิ้งงานแล้วเห็นว่า กรณีบริษัทก่อสร้างที่ถูกคว่ำบาตรมิให้เข้าประมูลก่อสร้างของทางราชการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวอาจจะหาทางหลีกเลี่ยงโดยการยุบเลิกบริษัทเดิมและตั้งบริษัทขึ้นในชื่อใหม่เพื่อมีสิทธิเข้าทำการประมูลรับเหมาก่อสร้างของทางราชการต่อไปได้ซึ่งเป็นการยากที่ทางราชการจะเข้าไปควบคุมให้ได้ผลอย่างจริงจัง ประกอบด้วยบางกรณีผู้รับเหมาหรือบริษัทก่อสร้างที่ถูกระบุชื่อว่าเป็นผู้ละทิ้งงานบางรายได้กระทำไปด้วยประมาทเลินเล่อหรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือมีความจำเป็นบางประการที่ไม่อาจจะทำการก่อสร้างให้สำเร็จลุล่วงไปตามสัญญาได้แล้วก็น่าจะได้พิจารณาวางหลักเกณฑ์ผ่อนผันให้ผู้รับเหมาหรือบริษัทก่อสร้างได้มีโอกาสลบชื่อออกจากบัญชีผู้รับเหมาที่ละทิ้งงานไว้ด้วยเมื่อผู้รับเหมาหรือบริษัทก่อสร้างนั้นๆ ได้ถูกลงโทษในการกระทำความผิดของตัวเองมาบ้างแล้วซึ่งได้มีการวางหลักเกณฑ์ไว้ดังต่อไปนี้
(1) ได้ถูกลงโทษตัดสิทธิมิให้เข้าประมูลรับเหมาก่อสร้างของทางราชการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า2 ปี
(2) ในการที่ต้องถูกระบุชื่อว่าเป็นผู้ละทิ้งงานนั้นมิได้กระทำไปด้วยเจตนาทุจริต หรือเป็นการเอาเปรียบทางราชการ หากเป็นไปด้วยความประมาทเลินเล่อหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความจำเป็นบางประการที่ไม่อาจก่อสร้างให้สำเร็จลุล่วงไปตามสัญญาได้
(3) เป็นบริษัทที่มีฐานะมั่นคงและมีเกียรติประวัติดีมาก่อน พอที่จะได้รับความไว้วางใจในการรับเหมาก่อสร้างของทางราชการต่อไปได้
(4) ยอมรับและรู้สำนึกความผิดในการกระทำของตน
เอกสารและพยานหลักฐานประกอบคำขอเพิกถอนการเป็นผู้ทิ้งงาน
- สำเนาใบทะเบียนพาณิชย์หรือสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล
- สำเนาหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลกับกรมสรรพากรย้อนหลัง 3 ปี
- สำเนารายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตในรอบระยะเวลาบัญชีย้อนหลัง3 ปี
- สำเนาใบแจ้งยอดบัญชีธนาคารย้อนหลังไม่น้อยกว่า1 ปี พร้อมหน้าสมุดที่ระบุชื่อและเลขที่บัญชี
- สำเนาหนังสือสัญญาซื้อหรือจ้างหรือหนังสือรับรองผลงานของผู้ขอเพิกถอนกับภาคเอกชนที่สามารถตรวจสอบได้
- เอกสารอื่นๆ ซึ่งสามารถแสดงถึงศักยภาพของบุคคลหรือนิติบุคคลผู้ขอเพิกถอนที่จะเข้ารับงานกับทางราชการต่อไปทั้งนี้ ผู้ขอเพิกถอนต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานผู้ออกคำสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานหรือต่อหน่วยงานผู้ออกคำสั่งแจ้งเวียนให้เป็นผู้ทิ้งงานแล้วแต่กรณี
การดำเนินการเกี่ยวกับการลงโทษผู้ทิ้งงานซึ่งเป็นมาตรการการลงโทษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งในปัจจุบันนอกจากจะเป็นการลงโทษบุคคลหรือนิติบุคคลแล้วยังได้ลงโทษครอบคลุมถึงผู้บริหารของนิติบุคคลนั้นๆโดยได้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบรายชื่อผู้ทิ้งงานผ่านทางเว็บไซต์www.gprocurement.go.th นอกจากนี้สำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกรมบัญชีกลาง ยังเป็นหน่วยงานที่รับพิจารณาเรื่องอุทธรณ์และการขอเพิกถอนการเป็นผู้ทิ้งงานอีกด้วย เครดิต : อธิวัฒน์ โยอาศรี , คลังความรู้การพัสดุ , http://cletter.athiwat.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...