22 พ.ค. 2562

หนังสือลาออกไม่ชอบ ... เพราะลงชื่อลูกจ้างไว้ก่อน แต่หน่วยงานเป็นผู้กรอกรายละเอียด !

กรณีพนักงานจ้างของหน่วยงานของรัฐประสงค์ที่จะลาออก โดยปกติระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศของหน่วยงานของรัฐนั้นจะกำหนดให้พนักงานจ้างยื่นหนังสือขอลาออกตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ และพนักงานจ้างจะกรอกข้อความและลงลายมือชื่อเพื่อแสดงความประสงค์ขอลาออกจากราชการ
มีประเด็นที่น่าสนใจว่า หากหนังสือลาออกที่พนักงานจ้างได้ลงลายมือชื่อไว้ก่อนล่วงหน้า โดยไม่กรอกรายละเอียด และหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดได้กรอกรายละเอียดในหนังสือขอลาออกดังกล่าว ในภายหลัง กรณีดังกล่าวถือเป็นการแสดงเจตนาลาออกของพนักงานจ้างหรือเป็นเจตนาเลิกจ้างของนายจ้าง และผลจะเป็นประการใด !!
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นลูกจ้างของเทศบาลแห่งหนึ่ง ตำแหน่งพนักงานกวาดถนน โดยทำสัญญาจ้างปีต่อปี และในการต่อสัญญาจ้างทุกครั้ง เทศบาลก็จะให้ผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อในหนังสือขอลาออกโดยไม่มีการกรอกรายละเอียดไว้ด้วย กระทั่งผู้ฟ้องคดีทำงานมาได้ปีที่ ๒๓ ประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ เทศบาลได้แจ้งว่าจะเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๘ โดยไม่แจ้งสาเหตุ
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากเป็นการเลิกจ้างก่อนครบกำหนดสัญญาจ้าง (ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๘) จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้เทศบาล (ผู้ถูกฟ้องคดี) จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตน
ประเด็นปัญหา คือ หนังสือขอลาออกที่ลูกจ้างลงลายมือชื่อไว้ก่อนล่วงหน้า และหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดได้กรอกรายละเอียดในภายหลัง ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาลาออกของลูกจ้างหรือไม่ ? และการเลิกจ้างลูกจ้างก่อนครบกำหนดสัญญาจ้างชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
โดยที่ประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาล เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับพนักงานจ้าง ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ข้อ ๕๖ กำหนดว่าเทศบาลอาจบอกเลิกสัญญาจ้างกับพนักงานจ้างก่อนครบกำหนดตามสัญญาจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่เป็นเหตุที่พนักงานจ้างจะเรียกร้องค่าตอบแทนการเลิกสัญญาจ้างได้ เว้นแต่คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลจะกำหนดให้ในกรณีใดได้รับค่าตอบแทนการออกจากงานโดยไม่มีความผิดไว้ ซึ่งคณะกรรมการพนักงานเทศบาลได้มีประกาศ เรื่อง ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ ของพนักงานจ้าง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ กำหนดว่ากรณีที่เทศบาลบอกเลิกสัญญาจ้างกับพนักงานจ้างก่อนครบกำหนดสัญญาจ้าง โดยมิใช่ความผิดของพนักงานจ้าง ให้พนักงานจ้างได้รับค่าตอบแทนการออกจากงาน
คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เทศบาลได้ทำสัญญาจ้างบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลตามโครงการให้เอกชนดำเนินการเก็บขนขยะและกวาดถนนแทน โดยให้เริ่มปฏิบัติงานตามสัญญาตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๘ และให้พนักงานกวาดถนน (รวมถึงผู้ฟ้องคดี) ย้ายไปสังกัดกับบริษัทเอกชนตามเงื่อนไข ที่กำหนด เจ้าหน้าที่เทศบาลจึงได้นำหนังสือขอลาออกที่ผู้ฟ้องคดีได้ลงนามไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งต่อสัญญาจ้างมากรอกรายละเอียดระบุว่า ผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์จะลาออกตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๘ เนื่องจากย้ายไปสังกัดบริษัทเอกชนตามโครงการดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ผู้ฟ้องคดีเริ่มเข้าทางานกับบริษัทเอกชน
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อสาเหตุที่ทำให้สัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลงเกิดจากหนังสือขอลาออกของผู้ฟ้องคดี ซึ่งการที่ผู้ฟ้องคดีได้ลงลายมือชื่อในหนังสือขอลาออกไว้ล่วงหน้าโดยมิได้ระบุรายละเอียดของหนังสือไว้ และเทศบาลได้กรอกข้อความในหนังสือขอลาออกดังกล่าวแทนผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีมิได้ มีเจตนาที่จะลาออกแต่อย่างใดนั้น ไม่อาจถือได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาลาออกของผู้ฟ้องคดี แต่เป็นการดำเนินการตามเจตนาของเทศบาลเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้กับบริษัทเอกชน อันเป็นกรณี ที่เทศบาลประสงค์ให้ผู้ฟ้องคดีโอนไปสังกัดบริษัทเอกชนซึ่งชนะการประมูล จึงเป็นการแสดงเจตนาของเทศบาลที่จะเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีก่อนครบกำหนดสัญญาจ้างตามข้อ ๕๖ ของประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลฯ โดยไม่ปรากฏว่าการเลิกจ้างดังกล่าวเกิดจากความผิดของผู้ฟ้องคดี การเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีก่อนครบกำหนดเวลาในสัญญาจ้างจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ฟ้องคดีย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลฯ ลงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. ๒๘/๒๕๖๒)
คดีนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีให้กับหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ว่า แม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะสามารถเลิกจ้างลูกจ้างก่อนครบกำหนดตามสัญญาจ้างได้ แต่การที่ลูกจ้างยังมิได้ระบุข้อความในหนังสือขอลาออกว่าประสงค์ที่จะลาออกจากราชการ เพียงแต่ลงลายมือชื่อในหนังสือลาออกไว้เพื่อต่อสัญญาจ้างเท่านั้น กรณีย่อมไม่อาจถือได้ว่าลูกจ้างได้แสดงเจตนาลาออกแต่อย่างใด และหากข้อความแสดงความประสงค์ขอลาออกในหนังสือดังกล่าวหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้กรอกรายละเอียดแล้ว ย่อมเป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้แสดงเจตนาที่จะเลิกจ้างลูกจ้างก่อนครบกาหนดตามสัญญาแทนลูกจ้าง
เครดิต : นายปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...