22 พ.ค. 2562

ไม่เร่งรัดติดตามให้เจ้าหน้าที่ชดใช้เงิน ... ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิด !

นอกจากผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานของรัฐจะมีหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการแล้ว เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับหน่วยงานของรัฐอันเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับบัญชายังมีหน้าที่สาคัญในการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหาตัวผู้ต้องรับผิด จำนวนเงินที่ต้องชดใช้ และเร่งรัดติดตามให้เจ้าหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานด้วย ไม่ว่าจะในรูปแบบของการออกคำสั่ง การใช้มาตรการบังคับทางปกครอง หรือการฟ้องคดีต่อศาล
คดีปกครองที่หยิบยกมานาเสนอในฉบับนี้ เป็นตัวอย่างของการที่ผู้บังคับบัญชาไม่เร่งรัดติดตามให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐ จนพ้นกำหนดอายุความการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รับผิด หน่วยงานของรัฐจึงมาใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้บังคับบัญชารับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแทน จึงนับว่าเป็นอุทาหรณ์ที่น่าสนใจสำหรับผู้บังคับบัญชาอย่างมากครับ !!
เหตุของคดีเกิดเมื่อครั้งผู้ฟ้องคดีดารงตำแหน่งนายกเทศมนตรีและได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกรณีที่เทศบาล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จัดซื้อที่ดินทิ้งขยะแล้วจำนวนเนื้อที่ดินขาดหายไป ซึ่งคณะกรรมการฯ มีความเห็นให้คณะกรรมการตรวจสอบความเหมาะสมสภาพที่ดินและตรวจรับที่ดินเป็นผู้ต้องรับผิดชดใช้เงินค่าที่ดินที่ขาดหายไป เนื่องจากมีการตรวจรับที่ดินโดยมิได้ตรวจสอบแนวเขตที่ดินก่อนและเจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่ได้รับรองแนวเขตที่ดิน
เมื่อผู้ฟ้องคดีลงนามรับทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2543 แต่ได้ออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิด (คณะกรรมการตรวจสอบความเหมาะสมสภาพที่ดินและตรวจรับที่ดิน) ชดใช้ค่าที่ดินที่เนื้อที่ขาดหายไปตามหนังสือลงวันที่ 17 มิถุนายน 2546 ซึ่งเป็นการไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในอายุความตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (กล่าวคือ ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 2 ปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันทำละเมิด ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ทำให้เทศบาลได้รับ ความเสียหาย เทศบาลจึงมีคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้บังคับบัญชารับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว
ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คาสั่ง แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้พิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งโดยลดจำนวนผู้ต้องรับผิดลงเหลือ 2 คน ประกอบด้วย ผู้ฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่อื่นอีก 1 คน เทศบาลจึงแก้ไขคำสั่งให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
การที่ผู้ฟ้องคดีออกคำสั่งให้คณะกรรมการตรวจสอบความเหมาะสมสภาพที่ดินและตรวจรับที่ดินชดใช้ค่าที่ดินที่ขาดหายไปเมื่อพ้นอายุความตามที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นการกระทำละเมิดที่ผู้ฟ้องคดีต้องชดใช้ค่าเสียหายแทนหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อคณะกรรมการฯ ที่ผู้ฟ้องคดีแต่งตั้งมีความเห็นให้คณะกรรมการตรวจสอบความเหมาะสมสภาพที่ดินและตรวจรับที่ดินรับผิดชดใช้เงินค่าที่ดินที่ขาดหายไป และผู้ฟ้องคดีลงนามวันที่ 3 สิงหาคม 2543 จึงถือว่าได้รู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากมูลละเมิดจึงมีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2543 ตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
การที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ 17 มิถุนายน 2546 เรียกให้คณะกรรมการตรวจสอบความเหมาะสมสภาพที่ดินและตรวจรับที่ดินร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าที่ดินที่เนื้อที่ขาดหายไป จึงเป็นการไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาดังกล่าวจนพ้นกำหนดอายุความการใช้สิทธิเรียกร้อง และเมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างเทศบาลซึ่งมีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามมาตรา 48 สัตตรส แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้ปล่อยปละละเลยไม่เร่งรัดติดตามการดาเนินการกรณีจัดซื้อที่ดินเนื้อที่ขาดหายไป เพื่อให้มีการวินิจฉัยสั่งการให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากมูลละเมิดภายในระยะเวลาตามกฎหมาย จนเป็นเหตุให้คดีขาดอายุความและทำให้เทศบาลได้รับความเสียหาย จึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นการกระทาละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 8 ประกอบมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เทศบาลจึงมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 2057/2559)
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ได้มีการหักส่วนความบกพร่องของการดำเนินงานส่วนรวมของหน่วยงานของรัฐออกด้วย เนื่องจากไม่มีการวางระบบในการเร่งรัดติดตามการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ
คดีดังกล่าวจึงถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งว่า จะต้องตระหนักและยึดถือระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปภายใต้กรอบเวลาที่กฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพราะหากเกิดความเสียหายขึ้นจากการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือไม่เร่งรัดติดตามให้ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายคืนให้แก่หน่วยงานของรัฐอันเกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้ว เจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่พ้นความรับผิดในการต้องชดใช้คืนเงินให้แก่หน่วยงานของรัฐเองดังเช่น อุทาหรณ์ข้างต้นครับ !
เครดิต : โดย นายปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...