23 มี.ค. 2557

สร้างรั้วริมถนนสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต…ต้องรื้อ!

           
             คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้ เป็นเรื่องของผู้ประกอบกิจการร้านค้าริมถนนซอย ใช้ประโยชน์จากถนนซอยจนทำให้ประชาชนผู้สัญจรไป-มาได้รับความเดือดร้อน ซึ่งโดยปกติแม้ว่าประชาชนทุกคนจะมีสิทธิ์ที่จะใช้ประโยชน์ในถนนซอย ซึ่งเป็นที่สาธารณะหรือทางสาธารณะร่วมกันได้ก็ตาม แต่การใช้ประโยชน์นั้นจะต้องไม่เป็นเหตุทำให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ได้น้อยลง

             เรื่องราวของคดีนี้เกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดีได้ขออนุญาตใช้ถนนด้านข้างของ อาคารร้านค้าที่เป็นทางเข้า-ออกซอย เพื่อใช้วางกองวัสดุก่อสร้างและสร้างรั้วสังกะสีเพื่อป้องกันอันตรายจากการ ปรับปรุงอาคารร้านค้า ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดี (นายกเทศมนตรี) มีคำสั่งอนุญาตเป็นเวลา 15 วัน ต่อมามีผู้ร้องเรียนว่าไม่สามารถใช้ถนนซอยสัญจรไป-มาได้ตามปกติ ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยื่นคำขอต่อการอนุญาตใช้ที่สาธารณะ จึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนรั้วสังกะสีและขนย้ายกองวัสดุก่อสร้างออก จากถนนซอย แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการใดๆ จนกระทั่งผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจทำการรื้อถอนรั้วสังกะสีและขนย้ายกองวัสดุ ก่อสร้างออกจากบริเวณดังกล่าว หลังจากนั้นได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับและค่าใช้จ่ายในการดำเนิน การ และมีหนังสือแจ้งเตือนผู้ฟ้องคดีอีกสองครั้ง

                   ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยอ้างว่า ถนนซอยดังกล่าวเป็นถนนส่วนบุคคล และการก่อสร้างรั้วก็เพื่อความปลอดภัยจากการปรับปรุงอาคาร คำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับและค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนรั้วและขนย้าย วัสดุก่อสร้าง ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

                  ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจสั่งให้ผู้ฟ้องคดี รื้อรั้วสังกะสีและขนย้ายกองวัสดุก่อสร้างที่ผู้ฟ้องคดีทำขึ้นได้หรือไม่? พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 4 ได้นิยามคำว่า “ที่สาธารณะ” ว่าให้หมายความรวมถึงถนน อันได้แก่ ทางเดินรถ ทางเท้า ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก และตรอก ซอย หรือถนนส่วนบุคคลซึ่งเจ้าของยินยอมให้ประชาชนใช้เป็นทางสัญจรด้วย และตามมาตรา 19 และมาตรา 39 ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนนหรือในที่สาธารณะ เว้นแต่เป็นบริเวณที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศโดยความเห็นชอบของเจ้าพนักงาน จราจร หรือได้รับหนังสืออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นการกระทำของหน่วยงานราชการ หรือเป็นการวางไว้เพียงชั่วคราว ซึ่งหากมีการฝ่าฝืน พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจสั่งให้ปลดหรือรื้อถอนภายในเวลาที่กำหนดได้ และถ้าผู้นั้นละเลยหรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการจัดทำหรือมอบหมายให้ผู้อื่นจัดการปรับ ปรุงสิ่งที่เป็นความผิดมิให้ปรากฏอีกต่อไป เพื่อให้เกิดความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายตามที่ได้ใช้จ่ายไปจริง

                 ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้ว่าถนนซอยจะเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดที่เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ก็ตาม แต่การที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณถนนซอยดังกล่าวและผู้ประกอบอาชีพขับรถ โดยสารประจำทางได้ใช้ถนนซอยในการสัญจรไป-มาเป็นเวลา 20 ปี ถึง 50 ปี โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง อีกทั้งผู้ฟ้องคดียังเคยได้รับอนุญาตให้ใช้ถนนซอยเพื่อวางวัสดุก่อสร้างใน ลักษณะเกะกะหรือกีดขวางเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 15 วัน และได้ชำระค่าธรรมเนียมการใช้ที่สาธารณะตามอัตราที่เทศบาลประกาศกำหนดไว้ ถนนซอยที่ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างรั้วและวางวัสดุก่อสร้างจึงถือเป็นที่สาธารณะ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ซึ่งต้องห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้งหรือวางสิ่งใดในบริเวณดังกล่าว เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

          ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ยื่นคำขอต่อการอนุญาตใช้ที่สาธารณะและไม่ดำเนินการรื้อ ถอนรั้วสังกะสีบริเวณถนนซอย ภายหลังที่การอนุญาตชั่วคราวได้สิ้นสุดลง เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางและราษฎรในชุมชนซอยได้รับความเดือด ร้อนจากการจราจรที่ติดขัด จึงเป็นการกระทำที่ต้องห้ามและเป็นความผิด ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนรั้วสังกะสีและขน ย้ายวัสดุก่อสร้างได้ตามมาตรา 19 และมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535

            ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไป ก็คือ ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจรื้อถอนรั้วสังกะสีและขนย้ายกองวัสดุก่อสร้าง และมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการได้หรือไม่? ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ให้รื้อถอนรั้วและขน ย้ายกองวัสดุก่อสร้าง ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีอำนาจตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ทำการรื้อรั้วสังกะสีและขนย้ายกองวัสดุก่อสร้างออกไปจากถนนซอย และมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับและชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดัง กล่าว รวมทั้งมีหนังสือแจ้งเตือนการชำระค่าปรับและค่าใช้จ่ายได้ ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว(คำพิพากษาศาล ปกครองสูงสุดที่ อ. 6/2556)

           คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับประชาชนทั่วไปว่า การที่บุคคลใดจะใช้ประโยชน์จากที่สาธารณะอันมีผลกระทบต่อสิทธิในการใช้ ประโยชน์ในที่สาธารณะของประชาชนคนอื่นๆ จนทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ได้น้อยลงนั้น หากกฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนหรือวิธีการให้ต้องดำเนินการอย่างใดๆ แล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายนั้นอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้การใช้สิทธิของตนส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้อื่นมากเกินความจำเป็น ครับ!

ที่มา   นายปกครอง  , หนังสือพิมพ์ บ้านเมือง  วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...