27 มี.ค. 2553

อะไรคืออำนาจหน้าที่ อปท.

         ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยค่อนข้างจะมีปัญหามากในเรื่องอำนาจหน้าที่ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้งนี้ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายไม่ว่าจะจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และฉบับ 2550 กฏหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกาศของคณะกรรมการการกระจายอำนาจ ตลอดจนกฏหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท ได้กำหนดให้อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีลักษณะเป็นภาพรวมครอบคลุมกิจการเกือบทุกประเภทที่ต้องดำเนินการโดยส่วนกลาง เช่น การทหาร การต่างประเทศ การดำเนินกิจการของกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญ เป็นต้น และในองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็มีปัญหาความซ้ำซ้อนในเรื่องเขตพื้นที่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ทำให้ในระยะหลังนี้จึงเกิดกรณีการกล่าวอ้างว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งได้ทำกิจการโดยปราศจากอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ หรือเกินกรอบอำนาจหน้าที่ขององค์กรดังกล่าว การกล่าวอ้างดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อเรียกเงินคืนจากผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือจากคณะกรรมการกฤษฏีกาในกรณีที่มีการส่งข้อหารือมาจากหน่วยงานต่าง ๆ
        อย่างไรก็ตามผู้เขียนคิดว่าการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีองค์กรเฉพาะที่ทำหน้าที่ดังกล่าวแทนที่การวินิจฉัยโดย สตง.หรือคณะกรรมการกฤษฏีกา ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุผลว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานกึ่งราชการกึ่งการเมืองที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด มีการทำงานในลักษณะที่ตอบสนองให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นในรูปแบบหลากหลายด้วยกัน สตง. ก็ดี หรือคณะกรรมการกฤษฏีกาก็ดี แนวการวินิจฉัยในเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานการตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชนแต่ละท้องถิ่น ทำให้การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นค่อนข้างที่จะอยู่ในอำนาจหน้าที่ที่เป็นวงแคบ ไม่ตอบสนองความเป็นจริงที่แต่ละท้องถิ่นย่อมมีความต้องการที่แตกต่างกัน และทั้งสองหน่วยงานก็มิได้ทำหน้าที่เสนอและกฎหมาย หรือระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรง ที่สำคัญที่สุดก็คือ ทั้งสองหน่วยงานไม่มีผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ขัดกับหลักการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นในกรณีที่การปฏิบัติกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหาในเรื่องการตีความข้อกฎหมายในเรื่องอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น สมควรที่จะต้องมีผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเพื่อที่จะได้นำปัญหาของท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจริงและท้องถิ่นต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานำมาเสนอต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
      ผู้เขียนเสนอว่าควรมีคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมาคณะหนึ่ง โดยอาจให้คณะกรรมการกระจายอำนาจที่มีสัดส่วนของผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น หรืออาจให้ศาลปกครองทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดแต่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ศาลปกครองทำหน้าที่นี้ด้วย และในการวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวจะต้องมีการบัญญัติในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้กระทำกิจการหนึ่งไปแล้ว ต่อมาได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดว่ามิใช่อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นผลที่ติดตามจะเป็นอย่างไร เพื่อมิให้เกิดปัญหาขอกฎหมายหรือปัญหาทางปฏิบัติในภายหลังด้วย ซึ่งผลจากคำวินิจฉัยขององค์กรดังกล่าวจะต้องไม่มีผลผูกพันต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งเสมอไป ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนแต่ละท้องถิ่นย่อมอาจจะแตกต่างกันได้
       ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนเห็นว่าควรมีกำหนดหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็คือในเรื่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีทำหน้าที่ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทั้งทางแพ่งและอาญา และทางปกครอง เนื่องจากปัจจุบันส่วนกลางยังไม่สามารถดำเนินการกระบวนการยุติธรรมทั้งสามประเภทให้มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งผลจากระบวนการยุติธรรมทั้งหมดย่อมตกแก่ประชาชนชุมชนในท้องถิ่นนั่นเอง ดังนั้น จึงควรให้ท้องถิ่นมีหน้าที่ในการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมด้วยอีกทั้งปัจจุบันการให้ท้องถิ่นมีหน้าที่ในการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ท้องถิ่นควรมีหน้าที่อื่นในการช่วยเหลือราชการส่วนกลางในหน้าที่ต่าง ๆ ที่ท้องถิ่นพอจะให้ได้ด้วยซึ่งอาจเป็นเรื่องที่บัญญัติในกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องในเรื่อง การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกฎหมายกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นให้บัญญัติหลักการนี้ไว้ เพื่อมิให้เกิดปัญหาการตีความกฎหมายในภายหลัง
ปัจจุบันการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกฝ่ายมีความเป็นห่วง ดังนั้น การปรับเปลี่ยนการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกฝ่ายมีความเป็นห่วงปัญหาการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดน้อยลง ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนว่าสิ่งไหนกระทำได้หรือกระทำมิได้ หากท้องถิ่นใดยังคงฝ่าฝืนกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ย่อมหมายถึงพฤติการณ์ที่ส่อเจตนาในทางทุจริต นอกจากจะเป็นเหตุให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจงในไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว จนเป็นเหตุให้ถูกถามถอนจากตำแหน่งได้ ผู้บริหารท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาโดย ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. แล้วแต่กรณี
ที่มา : ข่าว อปท.นิวส์ ปักษ์หลัง เดือนธันวาคม ประจำวันที่ 16 – 31 ธันวาคม 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...