28 มี.ค. 2553

สตง.สรุป 5 ปี "อปท." บ่งชี้ส่อตุกติกเพิ่มขึ้นทุกปี

        สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นประจำทุกปี เพื่อรายงานต่อรัฐบาล และรัฐสภา ส่วนหนึ่งของรายงานเป็นผลการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พบปัญหาและข้อบกพร่องในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปัญหาและข้อบกพร่องในการจัดซื้อจัดจ้าง และปัญหาอันเกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล
        "มติชน" ได้รวบรวมปัญหาและข้อบกพร่องในการจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ. และเทศบาล ซึ่ง สตง.ได้สรุปไว้ในรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2545-2549 ดังนี้
ปี 2545
        สตง.ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการจัดทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ. และเทศบาลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ รวม 346 หน่วยงาน
        สตง.สอบสวนพบเหตุอันควรสงสัยทุจริตหรือปฏิบัติผิดข้อกำหนด กฎระเบียบ และกฎหมายใน อบจ. และเทศบาล 36 เรื่อง เฉพาะ อบจ.ตรวจสอบงบการเงินพบข้อสังเกตที่ก่อให้เกิดความเสียหาย 38 หน่วยงาน ถูกเรียกคืนงบประมาณ 14 หน่วยงาน มูลค่าที่เรียกเงินคืน 3.13 ล้านบาท
ปี 2546
        สตง.ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ.และเทศบาล ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ รวม 285 หน่วยงาน
        สตง.สอบสวนพบเหตุอันควรสงสัยทุจริตหรือปฏิบัติผิดข้อกำหนด กฎระเบียบ และกฎหมายใน อบจ. และเทศบาล 40 เรื่อง เฉพาะ อบจ.ตรวจสอบงบการเงินพบข้อสังเกตที่ก่อให้เกิดความเสียหาย 30 หน่วยงาน ถูกเรียกคืนงบประมาณ 14 หน่วยงาน มูลค่าที่เรียกเงินคืน 8.71 ล้านบาท
ปี 2547
        สตง.ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ. และเทศบาล ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ รวม 351 หน่วยงาน
        สตง.สอบสวนพบเหตุอันควรสงสัยทุจริตหรือปฏิบัติผิดข้อกำหนด กฎระเบียบ และกฎหมายใน อบจ. และเทศบาล 126 เรื่อง เฉพาะ อบจ.ตรวจสอบงบการเงินพบข้อสังเกตที่ก่อให้เกิดความเสียหาย 42 หน่วยงาน ถูกเรียกคืนงบประมาณ 22 หน่วยงาน มูลค่าที่เรียกเงินคืน 21.29 ล้านบาท
2548
        สตง.ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ.และเทศบาล ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ รวม 418 หน่วยงาน
        สตง.สอบสวนพบเหตุอันควรสงสัยทุจริตหรือปฏิบัติผิดข้อกำหนด กฎระเบียบ และกฎหมายใน อบจ. และเทศบาล 58 เรื่อง เฉพาะ อบจ.ตรวจสอบงบการเงินพบข้อสังเกตที่ก่อให้เกิดความเสียหาย 43 หน่วยงาน ถูกเรียกคืนงบประมาณ 21 หน่วยงาน มูลค่าที่เรียกเงินคืน 106.89 ล้านบาท
ปี 2549
        สตง.ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ.และเทศบาลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ รวม 316 หน่วยงาน
        สตง.สอบสวนพบเหตุอันควรสงสัยทุจริตหรือปฏิบัติผิดข้อกำหนด กฎระเบียบ และกฎหมายใน อบจ. และเทศบาล 81 เรื่อง เฉพาะ อบจ. ตรวจสอบงบการเงินพบข้อสังเกตที่ก่อให้เกิดความเสียหาย 53 หน่วยงาน ถูกเรียกคืนงบประมาณ 26 หน่วยงาน มูลค่าที่เรียกเงินคืน 15.11 ล้านบาท
        กล่าวเฉพาะผลการตรวจสอบเฉพาะปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท.ในรายงานฉบับล่าสุด ปี 2549 ผลการตรวจสอบที่สำคัญพบว่า
        1.จัดซื้อจัดจ้างดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบพัสดุและมติคณะรัฐมนตรี คำนวณราคากลางงานก่อสร้างไม่ถูกต้อง หรือสูงกว่าความเป็นจริง จัดซื้อครุภัณฑ์ที่มีขนาดและราคานอกเหนือจากบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ของสำนักงบประมาณ เบิกจ่ายเงินค่าจ้างเหมางานก่อสร้างโดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้รับจ้างที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่งมอบงานก่อสร้างล่าช้า ไม่คิดค่าปรับ/คำนวณค่าปรับต่ำไป และไม่จ้างรายที่เสนอราคาต่ำสุด ทำให้ทางราชการต้องจ่ายเงินค่าจ้างเพิ่มขึ้น และผู้รับจ้างทำงานไม่ครบถ้วนตามแบบรูปรายการ ทำให้ต้องจ่ายค่าจ้างสูงกว่าปริมาณงานที่ทำได้จริง
        2.การจัดหาพัสดุ ไม่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง ประกาศสอบราคางานก่อสร้างไม่ได้กำหนดราคากลางไว้ในประกาศสอบราคา ไม่จัดส่งประกาศสอบราคาและเอกสารสอบราคาไปยังผู้มีอาชีพรับจ้างทำงานนั้นโดยตรง หลีกเลี่ยงการสอบราคาโดยแบ่งวงเงินจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีตกลงราคา บันทึกตกลงซื้อ/จ้างไม่ได้กำหนดอัตราค่าปรับ และสิ่งก่อสร้างเกิดชำรุดบกพร่องในระยะเวลาประกันของผู้รับจ้างแต่ไม่มีการซ่อมแซม
กรณีศึกษา "4 อบจ."
        สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นำกรณีที่เกิดขึ้นในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล และนครพนม มาสรุปไว้ในรายงานปี 2549 เรื่อง "ผลการตรวจสอบที่สำคัญ" หน้า 106-109 ดังนี้
-กรณี อบจ.สตูล
        อบจ.สตูล ดำเนินการจัดซื้อถังไฟเบอร์กลาส ขนาดความจุ 5,000 ลิตร จำนวน 805 ใบ โดยวิธีประกวดราคา ซึ่งขนาดความจุดังกล่าวไม่ได้กำหนดอยู่ในบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของสำนักงบประมาณ ได้ใช้วิธีสำรวจราคาจากร้านค้า จำนวน 6 ร้าน มีเพียงร้านเดียวที่ส่งแค็ตตาล็อก และใบแจ้งราคามาให้ ซึ่งแสดงราคาถังน้ำแอปเปิ้ล ราคาใบละ 29,000 บาท และ อบจ.ได้นำรายการดังกล่าวมาเป็นราคากลางในการดำเนินการจัดซื้อ โดยไม่มีการต่อรองราคาหรือหาราคาซื้อขายในท้องถิ่นเพิ่มเติม และเมื่อการพิจารณาผลการประกวดราคา ได้ผู้เสนอราคารายต่ำสุด เสนอราคาถังน้ำ พี.พี.เฉลี่ยใบละ 28,980 บาท เป็นเงิน 23,328,900 บาท แต่จากการสอบถามร้านค้าซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายถังเก็บน้ำ พี.พี. พอสรุปได้ว่า สามารถลดราคาได้อีกประมาณ 40-50% จากราคาแค็ตตาล็อก หรือใบแจ้งราคา การดำเนินการดังกล่าวจึงเป็นการจงใจจัดหาราคาครุภัณฑ์มาจัดทำงบประมาณ โดยไม่ประหยัด ทำให้ อบจ.เสียงบประมาณสูงกว่าที่ควรจะเป็นอย่างน้อย เป็นเงิน 7,687,750 บาท
        สตง.ได้แจ้งให้ดำเนินการตามกฎหมายทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
-กรณี อบจ.นครพนม
        ดำเนินการโครงการก่อสร้างถนน คสล.ตามมาตรการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการจัดทำเอกสารหลักฐานและเบิกจ่ายเงินค่าแรงงาน ค่าจัดซื้อวัสดุยานพาหนะ ค่าวัสดุเชื้อเพลิงเป็นเท็จ การเช่าวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือก่อสร้างในการดำเนินโครงการที่เป็นทรัพย์สินของผู้รับจ้างเอง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการเป็นเงิน 924,365 บาท
        สตง.ได้แจ้งให้ดำเนินการตามกฎหมายทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว
        กล่าวได้ว่า กรณี อบจ.สตูลจัดซื้อถังน้ำมีกระบวนการมิชอบคล้ายคลึงกับวิธีการจัดซื้อหนังสือเรียน และสื่อการเรียนการสอนของ อบจ.หลายจังหวัดที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวในขณะนี้
-กรณี อบจ.สุรินทร์
        คณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงานไม่รายงานให้หัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ทราบ ถึงการที่ผู้รับจ้างได้ขุดดินข้างทางมาใช้ในการก่อสร้างโดยมิต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าดินและค่าขนส่ง เพื่อหักค่าวัสดุที่แหล่ง (ดิน) และค่าขนส่ง ออกจากมูลค่าตามสัญญานั้นแม้จะอ้างว่าคณะกรรมการกำหนดราคากลางไม่ได้กำหนดระยะทางขั้นต่ำไว้ก็ตาม เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ได้รับความเสียหายในการที่ต้องจ่ายค่าจ้างก่อสร้างเกินกว่าที่ผู้รับจ้างปฏิบัติงานจริง รวมเป็นเงิน 612,965.44 บาท โดยแยกเป็นในส่วนของค่าวัสดุที่แหล่ง (ดิน) เป็นเงิน 350,015.96 บาท และค่าขนส่งวัสดุจากแหล่งถึงหน้างาน เป็นเงิน 262,949.48 บาท
        ได้แจ้งให้ดำเนินการตามกฎหมายทางแพ่ง และทางวินัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
-กรณี อบจ.ลย
        องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย เบิกจ่ายเงินงบประมาณผิดระเบียบ เป็นเงิน 3,643,605 บาท
        1.การดำเนินการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 80 ชุด เป็นเงิน 1,989,600 บาท และจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 2 ชุด เป็นเงิน 100,000 บาท โดยมีบางจำนวนยังไม่ได้แจกจ่ายหรือนำออกมาใช้งาน และให้หน่วยราชการอื่นยืมไปใช้งาน เป็นการจัดซื้อโดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น เป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยงานการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 20
        2.องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย มีการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่ ที่ทำการปกครองจังหวัดและมีการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ส่วนราชการ ในลักษณะเป็นการอุดหนุน เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งมีการอุดหนุนเป็นค่าวัสดุ เครื่องแต่งกาย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการและค่าเหมารถยนต์ รวม 18 ฎีกา เป็นเงิน 1,391,000 บาท เป็นการจัดซื้อให้กับส่วนราชการอื่นซึ่งมีงบประมาณเป็นของตนเองอยู่แล้ว มิใช่กิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 45 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2542
        3.มีการเบิกจ่ายค่าจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ชุดวอร์ม ในการจัดการแข่งขันกีฬาภายใน โครงการ "อบจ.สัมพันธ์" เป็นเงิน 163,005 บาท ซึ่งการแข่งขันกีฬาระหว่างสมาชิกสภา อบจ. ข้าราชการและลูกจ้าง เป็นเรื่องเฉพาะส่วนบุคคล มิใช่การจ่ายเงินเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนในท้องถิ่น
        ได้แจ้งให้ดำเนินการตามกฎหมายทางแพ่ง และทางวินัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
.....มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...