2 ก.ค. 2562

การดำเนินการทางวินัย VS การดำเนินคดีอาญา

วัตถุประสงค์

การดำเนินการทางวินัย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นมาตรการ ปรามข้าราชการที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับกำหนด โดยวิธีการลงโทษทางวินัย ซึ่งมีผลเป็นการปรามไม่ให้ข้าราชการอื่นกระทำผิดวินัยเพราะเกรงกลัวกับการลงโทษ

การดำเนินคดีอาญา มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการกระทำของบุคคลในสังคม มิให้กระทำการใดๆ ที่กฎหมายกำหนดให้การกระทำนั้นเป็นความผิด เพื่อคุ้มครองสังคมโดยรวมให้มีความสงบสุข

การรับฟังพยานหลักฐาน

การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อลงโทษทางวินัยนั้น ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลพินิจสั่งลงโทษโดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ตามสำนวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ประกอบกับคุณงามความดีที่เคยกระทำในครั้งก่อนเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรงได้

การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อลงโทษในคดีอาญานั้นจะลงโทษได้เมื่อพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัย หากพยานหลักฐานไม่ชัดเจนมีข้อระแวงสงสัยศาลก็จะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย

การสอบสวนทางวินัยเกี่ยวเนื่องคดีอาญา

กรณีที่การกระทำใดที่มีมูลความทั้งทางวินั และทางอาญา ผลการดำเนินการทางวินัยอาจแตกต่างจากผลการดำเนินคดีอาญาได้ ทั้งนี้เนื่องกระบวนการดำเนินการทางวินัยและทางอาญานั้นเป็นกระบวนการที่แยกต่างหากจากกัน และแม้จะปรากฏว่า ผลการดำเนินคดีอาญาแตกต่างออกไป แต่ก็ไม่กระทบต่อการพิจารณาลงโทษทางวินัยที่ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้นในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในความผิดทางวินัย และปรากฏว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเข้าลักษณะเป็นความผิดทางอาญาที่ไม่ใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ คณะกรรมการสอบสวนก็จะต้องทำการสอบสวนไปตามคำสั่งนั้น ถ้าผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยผู้บังคับบัญชาต้องสั่งลงโทษโดยไม่ชักช้า แต่หากผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย กรณีเช่นนี้ผู้ถูกกล่าวหานั้นก็ยังตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ถูกฟ้องคดีอาญา ถ้าไม่ใช่คดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท กฎหมายให้อำนาจผู้บังคับบัญชาสั่งให้รอฟังผลทางคดีอาญาได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้จึงสมควรรอการสั่งเด็ดขาดไว้ก่อนจนกว่าจะทราบผลทางคดีอาญา

การรอผลคดีอาญา

ศาลปกครองสูงสุดได้มีแนววินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.142/2549 ว่า “การดำเนินการทางวินัยไม่ต้องรอผลคดีอาญา และผลของคดีอาญาจะเป็นประการใดไม่ผูกมัดผู้ดำเนินการทางวินัยที่จะเห็นแตกต่างได้ หากได้กระทำไปโดยสุจริตและเป็นไปตามกฎหมายแล้ว” และ

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. 67/2547 วินิจฉัยว่า “ผลการลงโทษทางวินัยและผลการลงโทษทางอาญาหาจำต้องมีผลไปในทางเดียวกัน เพราะกระบวนการพิจารณาทางวินัยและทางอาญามีความแตกต่างกัน การรับฟังพยานหลักฐานก็แตกต่างกัน ทั้งการมีอยู่ของพยานหลักฐานและการให้ถ้อยคำหรือการเบิกความของพยานอาจจะมีความแตกต่างกันได้ จึงไม่จำต้องรอผลการพิจารณาทางอาญาก่อนแต่ประการใด เมื่อมีการดำเนินการทางวินัยจนมีการสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดี หากภายหลังปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ผลของการได้รับโทษจำคุกดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีในเรื่องดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการทางวินัยซ้ำซ้อน ถึงแม้มูลกรณีการกระทำความผิดเป็นเหตุเดียวกันกับผลการดำเนินการทางวินัยที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ก็ตาม” ซึ่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.67/2547 นี้ได้วางหลักกรณีการลงโทษทางวินัยที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาว่าเมื่อมีการดำเนินการทางวินัยและได้สั่งลงโทษแก่ข้าราชการผู้ใดไปแล้ว หากปรากฏภายหลังว่าข้าราชการผู้นั้นกระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก ผลของการได้รับโทษจำคุกเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ผู้บังคับบัญชายังสามารถสั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออกได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการทางวินัยซ้ำ แม้มูลกรณีการกระทำความผิดจะเป็นเหตุเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...