3 ก.ค. 2562

“ถนนชำรุด” แค่ปักถุงพลาสติกแจ้งเตือน : ไม่เพียงพอแก่การป้องกันเหตุ !

เติมพลังกับครอบครัว...ในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่กันไปแล้ว กลับมาเดินเครื่องมุ่งหน้าทำงานกันต่อ เพราะ “เวลายังเดินไปข้างหน้า ไม่เคยเดินถอยหลัง ฉันใด ชีวิตคนก็ต้องเดินหน้า ไม่เดินถอยหลังเช่นเวลา ฉันนั้น”
วันนี้ผู้เขียนก็เดินหน้านำคดีปกครองที่น่าสนใจมาฝากเหมือนเช่นเคย โดยคดีนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลบำรุงรักษาถนน สะพานหรือทางสาธารณะต่างๆ รวมทั้งการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและอันตรายอันเกิดจากทางหรือถนนชำรุดโดยอยู่ระหว่างการซ่อมแซมแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
มาดูกันว่า...กรณีมีเหตุถนนหรือทางสาธารณะชำรุด หรือมีการก่อสร้าง ซ่อมแซมปรับปรุงถนน โดยในระหว่างการดำเนินการดังกล่าวนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานผู้มีหน้าที่จะต้องดำเนินการป้องกันมิให้เกิดอันตรายอย่างไรและระดับใด จึงจะถือว่าเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่หรือประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน
โดยคดีพิพาทที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ เหตุเกิดจากมีฝนตกหนักติดต่อกันทำให้เกิดน้ำกัดเซาะท่อระบายน้ำใต้ถนนคอนกรีตจนถนนยุบตัวลงใช้สัญจรไม่ได้ หลังจากที่องค์การบริหารส่วนตำบลทราบเรื่องจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบและแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบเพื่องดการใช้เส้นทางดังกล่าว พร้อมทั้งได้นำไม้ไผ่ผูกด้วยถุงพลาสติกไปปักไว้ในบริเวณหน้าถนนที่ชำรุดเพื่อเป็นจุดสังเกต
ต่อมาได้เกิดเหตุรถยนต์กระบะของผู้ฟ้องคดีแล่นผ่านจุดเกิดเหตุ ทำให้รถตกลงไปในคลองใต้ถนนได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงไปแจ้งความและนำรถยนต์คันดังกล่าวไปซ่อมที่อู่ซ่อมรถ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า องค์การบริหารส่วนตำบลไม่จัดหาเครื่องกีดขวางหรือติดตั้งสัญญาณเตือนที่เป็นการห้ามยวดยานพาหนะผ่านเข้าไปก่อนถึงจุดเกิดเหตุอย่างชัดเจน ทำให้รถยนต์ของผู้ฟ้องคดีเสียหาย จึงยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้พิพากษาให้องค์การบริหารส่วนตำบลชดใช้ค่าเสียหายในการซ่อมรถและค่าเสื่อมสภาพของรถคันดังกล่าวแก่ผู้ฟ้องคดี
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดี (องค์การบริหารส่วนตำบล) มีหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก ตลอดจนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 เมื่อเกิดเหตุถนนชำรุดบางส่วนและยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขให้ใช้การตามปกติได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือขอความอนุเคราะห์ผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ห้ามรถยนต์ใช้เส้นทางดังกล่าวและเฝ้าระวังสอดส่องดูแล โดยหากปริมาณน้ำลดลงแล้วผู้ถูกฟ้องคดีจะเข้าดำเนินการแก้ไข พร้อมทั้งมีหนังสือขออนุมัติจัดซื้อแผงกั้นจราจรที่เป็นมาตรฐาน แต่ในระหว่างที่รอแผงกั้นก็ได้นำไม้ไผ่และถุงพลาสติกปักไว้เป็นจุดสังเกตในบริเวณที่เกิดเหตุไปก่อนนั้น ถือว่าผู้ถูกฟ้องคดียังมิได้จัดให้มีการปิดประกาศแจ้งเตือนและจัดทำแผงกั้นเตือนอันตรายที่แข็งแรงมั่นคงเพื่อให้ผู้ใช้รถรู้สภาพถนนที่ชำรุด ลำพังแต่เพียงการประกาศผ่านทางเสียงตามสายภายในหมู่บ้านและการปักไม้ไผ่ที่ผูกถุงพลาสติกในบริเวณที่เกิดเหตุ ยังไม่ถือเป็นการเตือนภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเพียงพอ เพราะบางคนก็อาจไม่ได้ยินหรือไม่ได้รับทราบผ่านทางเสียงตามสาย กรณีจึงเป็นการละเลยไม่ดำเนินการปิดทางบริเวณที่ชำรุดมิให้มีการสัญจรผ่านเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิด อันเป็นการละเลยต่อหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและเป็นการดำเนินการไม่พอสมควรแก่การป้องกันเหตุ รวมทั้งละเลยต่อหน้าที่ในการซ่อมแซมบำรุงรักษาท่อระบายน้ำและถนนสายดังกล่าวตามมาตรา 67 (1) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 622/2558)
คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานอันเป็นแนวทางปฏิบัติราชการที่ดีกรณีการป้องกันสาธารณภัยหรืออันตรายอันเกิดจากถนนชำรุดที่รอหรืออยู่ระหว่างการซ่อมแซม โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผู้มีหน้าที่จะต้องดำเนินการแสวงหามาตรการที่เหมาะสมตามสภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เพราะการกำหนดมาตรการที่ไม่เพียงพอแก่การป้องกันอันตรายในทางกฎหมายถือว่าฝ่ายปกครองซึ่งหน้าที่รับผิดชอบละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ คือ
1. จะต้องติดป้ายแจ้งเตือนที่เห็นได้อย่างชัดเจนก่อนถึงบริเวณที่เกิดเหตุ หรือจุดที่ห้ามผ่าน กรณีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนด้วยวาจาหรือแจ้งเตือนผ่านทางเสียงตามสายนั้น ยังไม่เป็นการเพียงพอแก่การป้องกันเหตุ เพราะอาจมีผู้ไม่ได้ยินหรือไม่รับทราบการแจ้งเหตุด้วยวิธีการดังกล่าว
2. จะต้องจัดหาเครื่องกีดขวาง ติดตั้งสัญญาณเตือน หรือที่กั้นเตือนอันตรายที่แข็งแรงมั่นคงเพื่อให้ผู้ใช้รถรู้สภาพถนนข้างหน้าก่อนถึงจุดเกิดเหตุอย่างชัดเจน และการใช้ไม้ไผ่ผูกถุงพลาสติกปักเป็นจุดสังเกตเพื่อเตือนว่าห้ามผ่านนั้น ยังไม่เพียงพอแก่การป้องกันเหตุและบรรเทาสาธารณภัยได้
นอกจากนี้ในมุมของผู้ใช้รถใช้ถนน... ก็จำต้องตระหนักและใช้ความระมัดระวังในการขับขี่อยู่เสมอรวมทั้งต้องคอยสังเกตเครื่องหมายการจราจรและป้ายแจ้งเตือนต่างๆ ด้วยเช่นกัน ที่สำคัญต้องไม่ดื่มสุราหรือของมึนเมาในขณะขับขี่อย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเพราะ “รถหรือทรัพย์สินที่เสียหาย ยังสามารถซ่อมแซมหรือซื้อหามาใหม่ได้ แต่ชีวิตและร่างกายที่เสียไปนั้น ไม่สามารถหาอะไหล่ใดมาทดแทนหรือซื้อหาได้ง่ายๆ ดังเช่นรถยนต์” นะคะ...
เครดิต : ธัญธร ปังประเสริฐ , พนักงานคดีปกครองชำนาญการพิเศษ , สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง
**********************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...