5 ก.ค. 2562

ความสมบูรณ์ของสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง

การทำสัญญาไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง โดยทั่วไปแล้วมักมีบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสัญญาเพียงสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องกับสัญญามากกว่าสองฝ่าย เช่น กรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ตามสัญญาได้โอนสิทธิเรียกร้องที่ตนมีต่อคู่สัญญา (ลูกหนี้) ให้แก่บุคคลอื่น (ซึ่งเรียกว่าผู้รับโอน) ซึ่งเมื่อสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องมีผลสมบูรณ์ ผูกพันทั้งผู้โอน ผู้รับโอนและลูกหนี้แล้ว หากต่อมาผู้โอนได้แจ้งยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องให้คู่สัญญา (ลูกหนี้) ทราบ แต่มิได้แจ้งให้ผู้รับโอนทราบ การโอนสิทธิเรียกร้องจะยังคงสมบูรณ์ใช้บังคับต่อไปอีกหรือไม่ มีกรณีตัวอย่างตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๔๒๑/๒๕๕๒
ผู้ถูกฟ้องคดี (องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา) ได้ทำสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารสำนักงานและสัญญาจ้างตกแต่งภายในอาคารพร้อมจัดหาครุภัณฑ์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดหาดใหญ่(ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “ห้างฯ”) โดยหลังจากทำสัญญาดังกล่าวแล้ว ห้างฯ ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับชำระหนี้ค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีและได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดี (ลูกหนี้) ทราบ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้ชำระเงินค่าจ้างในแต่ละงวดตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดีตลอดมา แต่ภายหลัง ห้างฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ถูกฟ้องคดีว่าขอยกเลิกสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่ห้างฯ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เนื่องจากไม่ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดี
คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีได้ให้การต่อสู้ว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายเพราะผู้ลงนามฝ่ายผู้รับโอนไม่มีอำนาจ และสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นการแสดงเจตนาลวงและเป็นนิติกรรมอำพราง เพราะผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญากิจการร่วมค้ากับห้างหุ้นส่วนจำกัดหาดใหญ่
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า มาตรา ๓๐๖ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่ง การโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านั้นท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ โดยมิได้บัญญัติว่าหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจะต้องลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน ดังนั้น การโอนสิทธิเรียกร้องที่ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนฝ่ายเดียวจึงเป็นการสมบูรณ์ หาจำต้องลงลายมือชื่อผู้รับโอนด้วยไม่ เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัดหาดใหญ่ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างฯ ในฐานะผู้โอนถูกต้องแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องจึงมีผลสมบูรณ์และมีผลผูกพันห้างฯ ผู้ถูกฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดี กรณีไม่จำต้องพิจารณาว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับโอนจะลงลายมือชื่อครบถ้วนถูกต้องตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทหรือไม่และเมื่อสิทธิเรียกร้องในการรับเงินของห้างฯ ตกเป็นของผู้ฟ้องคดีแล้ว ห้างฯ ย่อมหมดสิทธิที่จะรับเงินค่าจ้างอีกต่อไป และไม่มีสิทธิที่จะเพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ดังนั้น หนังสือขอยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีผลแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ถึงแม้ผู้ฟ้องคดีจะได้ทำสัญญากิจการร่วมค้ากับห้างฯ แต่ก็ไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดของสัญญาที่ห้ามผู้ฟ้องคดีประกอบธุรกิจหรือกระทำนิติกรรมอื่นในนามของผู้ฟ้องคดีเอง เพราะเหตุว่าสัญญากิจการร่วมค้าเป็นเพียงข้อตกลงในการร่วมกันดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งของคู่สัญญาตามที่ตกลงกันเท่านั้น มิได้ส่งผลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายสิ้นสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบกิจการธุรกิจหรือการทำนิติกรรมอื่นใดในนามของตนเองต่างหากจากกิจการร่วมค้าแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญากิจการร่วมค้ากับห้างฯ โดยเปิดเผย หากผู้ฟ้องคดีประสงค์จะใช้รูปแบบของกิจการร่วมค้าดังกล่าวในการเข้าทำสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีก็ย่อมสามารถกระทำได้โดยเปิดเผย จึงไม่มีเหตุผลใดที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องใช้การทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเพื่ออำพรางกิจการร่วมค้าดังกล่าว การที่ห้างฯ ได้ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างตามสัญญาให้กับผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่เป็นการแสดงเจตนาลวงและมิใช่เป็นนิติกรรมอำพรางแต่อย่างใด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายค่าจ้างบางส่วนให้แก่ห้างฯ ซึ่งมิใช่ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องและไม่อาจถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีครบถ้วนแล้ว หนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจึงหาระงับไปไม่ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดี
จากคำวินิจฉัยดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า
๑. การโอนสิทธิเรียกร้องที่ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนฝ่ายเดียวย่อมเป็นการสมบูรณ์ โดยไม่จำต้องลงลายมือชื่อผู้รับโอนแต่อย่างใด แต่การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ได้ต่อเมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นโดยคำบอกกล่าวหรือความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือ และเมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องมีผลสมบูรณ์แล้ว ผู้โอนย่อมไม่มีสิทธิเพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้รับโอน
๒. สัญญากิจการร่วมค้าเป็นข้อตกลงในการร่วมกันดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งของคู่สัญญาตามที่ตกลงกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายไม่สิ้นสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบกิจการธุรกิจ หรือการทำนิติกรรมอื่นใดในนามของตนเองต่างหากจากกิจการร่วมค้า
เครดิต : นางสาวปารวี พิสิฐเสนากุล พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ , กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร สำนักวิจัยและวิชาการ , สำนักงานศาลปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...