1 ก.ค. 2562

ฝึกซ้อมแผนดับเพลิง ... เจ้าหน้าที่ตาย ! หน่วยงานต้องรับผิด ?

คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดับเพลิง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมหรือในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น  หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็จะต้องมีความระมัดระวังในการจัดหาอุปกรณ์ที่มี ความปลอดภัยและผู้เชี่ยวชาญสำหรับการปฏิบัติงานดังกล่าว
     คดีนี้มีมูลเหตุมาจากการที่องค์การบริหารส่วนตำบลได้จัดซ้อมแผนดับเพลิงและระงับอัคคีภัย แต่ในระหว่างการฝึกซ้อมถังแรงดันลมซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกเกิดระเบิดขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ควบคุมการเปิด-ปิดวาล์วแก๊สและถังแรงดันลมเสียชีวิต
      จากการสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เห็นว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย เห็นควรให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ คือ ค่าทำศพและเงินบำเหน็จพิเศษตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้างของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ 
      แต่บุตร (โดยชอบด้วยกฎหมายตามคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด) ของเจ้าหน้าที่ผู้ตาย (โดยมารดาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม) เห็นว่า การตายของบิดาเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อขององค์การบริหารส่วนตำบล จึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากกว่าที่ได้รับตามระเบียบดังกล่าว จึงนำคดีมาฟ้องศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้องค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดี) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี
      การที่เจ้าหน้าที่ (ผู้ตาย) เสียชีวิตในขณะฝึกซ้อมแผนดับเพลิง ถือเป็นการกระทำละเมิดขององค์การบริหารส่วนตำบลหรือไม่ และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ ?
       ศาลปกครองสูงสุดได้แสวงหาข้อเท็จจริงทั้งจากสำนวนการสอบสวนข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และหน่วยงานซึ่งเป็นวิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ รับฟังยุติได้ว่า ในการฝึกอบรมครั้งนี้ไม่มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบและติดตั้งอุปกรณ์ที่จะใช้ในการฝึกซ้อม หรือช่วยควบคุมดูแลการฝึกซ้อม ไม่ได้จัดหาถังแรงดันลมเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการฝึกซ้อม โดยเจ้าหน้าที่ (ผู้ตาย) ได้ซื้อถังอัดแรงดันลมเอง อุปกรณ์ถูกนำมาใช้แล้วหลายครั้ง มีสภาพเก่าและในการฝึกซ้อมฯ จะต้องมีเจ้าหน้าที่ควบคุมการฝึกหรือครูฝึกและวิทยากรที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน และใช้วิธีต่อท่อกับถังแก๊สโดยตรงและมีวิทยากรเป็นผู้ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
       ฉะนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้ถังแรงดันลมควบคู่กับแก๊สหุงต้มในการฝึกซ้อมแผนดับเพลิงโดยไม่มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญคอยควบคุมการฝึกซ้อมและปล่อยให้เจ้าหน้าที่ (ผู้ตาย) เป็นผู้จัดหาถังอัดแรงดันลมนำมาประกอบด้วยตนเอง ทั้งที่เจ้าหน้าที่ (ผู้ตาย) ไม่เคยได้รับการฝึกอบรมในลักษณะดังกล่าวมาก่อน จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีปราศจากความระมัดระวังที่ผู้ถูกฟ้องคดีจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ อันเป็นการละเลยต่อหน้าที่ในการดำเนินโครงการดังกล่าว
       ดังนั้น จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อบุตรของเจ้าหน้าที่ (ผู้ตาย) องค์การบริหารส่วนตำบล จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามนัยมาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ประกอบมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๗๗๕/๒๕๖๐)
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ คงจะทำให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยตรงและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงความสำคัญในความปลอดภัยของผู้ฝึกและผู้รับการฝึก ทั้งความรู้ความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่เองหรือเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ควบคุมตลอดระยะเวลา วิธีการดำเนินการ และแม้กระทั่งอุปกรณ์ที่นำมาใช้จะต้องมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยสูง เพราะการไม่ตระหนักรู้หรือละเลยเพิกเฉยต่อการให้ความสำคัญกับปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว จนกระทั่งเกิดความเสียหายขึ้น หน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ... ครับ !!
เครดิต ; นายปกครอง (คมชัดลึก)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...