3 ก.ค. 2562

การอุทธรณ์คําสั่งทางปกครอง

ในช่วงนี้ มีบุคลากรหลายหน่วยงานโทรมาปรึกษาถูกออกคำสั่งให้รับผิดชดใช้เงิน และจะฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอน จึงแนะนำให้อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองเสียก่อน ภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์การยื่นอุทธรณ์และกําหนดเวลาพิจารณาอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองที่กฎหมายได้ บัญญัติกำหนดไว้ในส่วนที่ ๕ ของหมวด ๒ ตั้้งแต่มาตรา ๔๔ ถึง ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนี้
๑. การยื่นอุทธรณ์และกําหนดเวลาอุทธรณ์คําสั่งทางปกครอง
๑.๑ ผู้ที่มีสิทธิอุทธรณ์คําสั่งทางปกครอง
ผู้ที่มีสิทธิอุทธรณ์คําสั่งทางปกครอง คือ คู่กรณี ซึ่งได้แก่ผู้ที่ได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครองทุกคนนั่นเอง ซึ่งได้แก่ ผู้ที่ได้ยื่นคําขอ ผู้คัดค้านคําขอ ผู้อยู่ในบังคับหรือจะอยู่ในบังคับของคําสั่งทางปกครอง และผู้ที่ได้เข้ามาในกระบวนพิจารณาทางปกครองอื่น ๆ แต่สําหรับบุคคลภายนอกที่มิได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครองนั้นจะอุทธรณ์ไม่ได้ แต่บุคคลดังกล่าวสามารถโต้แย้งคําสั่งทางปกครองนั้นต่อองค์กรวินิจฉัยคดีปกครองได้โดยตรง (มาตรา ๔๔)
๑.๒.ผู้ที่จะรับอุทธรณ์คําสั่งทางปกครอง
คู่กรณีต้องอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองต่อเจ้าหน้าที่ผู้ออกคําสั่งทางปกครองที่ระบุชื่อและตําแหน่งในคําสั่งทางปกครองนั้น เพราะบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ที่ทราบเรื่องและอยู่ในฐานะที่จะทบทวนคําสั่งทางปกครองของตนเองได้ดีที่สุด (มาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง)
๑.๓.กําหนดเวลาอุทธรณ์คําสั่งทางปกครอง
คู่กรณีต้องอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคําสั่งดังกล่าว (มาตรา ๔ วรรคหนึ่ง) แต่ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองดังกล่าวมิได้ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคําอุทธรณ์หรือคําโต้แย้งและระยะเวลาสําหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งไว้ในคําสั่งทางปกครองนั้นด้วย (มาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง) ระยะเวลาสําหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งนั้นจะเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งหลักเกณฑ์ดังกล่าว แต่ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่ดังกล่าวและระยะเวลาที่อาจอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัตินี้ (สิบห้าวันตามมาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง) หรือตามกฎหมายเฉพาะ (ถ้ามี) มีระยะเวลานั้นกว่าหนึ่งปี ให้ขยายเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคําสั่งทางปกครอง (มาตรา ๔๐ วรรคสอง) อนึ่ง คําสั่งทางปกครองที่ออกก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับไม่อยู่ภายใต้บังคับให้ต้องอุทธรณ์ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคําสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้
๒. รูปแบบของคําอุทธรณ์
มาตรา ๔๔ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติว่า “มาตรา ๔๔ คําอุทธรณ์ต้องทําเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย” หมายถึง
(๑) คําอุทธรณ์ต้องทําเป็นหนังสือ
(๒) คําอุทธรณ์ต้องมีข้อโต้แย้งว่าไม่เห็นด้วยกับคําสั่งทางปกครองนั้นอย่างชัดเจน
(๓) คําอุทธรณ์ต้องมีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ข้อความดังกล่าวก็เป็นแต่เพียงแสดงให้เกิดความเข้าใจว่าประสงค์จะโต้แย้งส่วนใดหรือโต้แย้งคําสั่งทางปกครองนั้นทั้งหมดก็เพียงพอแล้ว
๓. การพิจารณาอุทธรณ์
มาตรา ๔๕ และมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติว่า
“มาตรา ๔๕ ให้เจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔๔วรรคหนึ่ง พิจารณาคําอุทธรณ์และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ในกรณีที่เห็นด้วยกับคําอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ให้ดําเนินการเปลี่ยนแปลงคําสั่งทางปกครองตามความเห็นของตนภายในกําหนดเวลาดังกล่าวด้วย
ถ้าเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับคําอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ให้เร่งรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอํานาจพิจารณาคําอุทธรณ์ภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีอํานาจพิจารณาคําอุทธรณ์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตนได้รับรายงาน ถ้ามีเหตุจําเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้มีอํานาจพิจารณาอุทธรณ์มีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกําหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้มีอํานาจพิจารณาอุทธรณ์มีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกําหนดเวลาดังกล่าว ในการนี้ ให้ขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกําหนดเวลาดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ผู้ใดจะเป็นผู้มีอํานาจพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
บทบัญญัติมาตรานี้ไม่ใช้กับกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๔๖ ในการพิจารณาอุทธรณ์ ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาทบทวนคําสั่งทางปกครองได้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หรือความเหมาะสมของการทําคําสั่งทางปกครอง และอาจมีคําสั่งเพิกถอนคําสั่งทางปกครองเดิมหรือเปลี่ยนแปลงคําสั่งนั้นไปในทางใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มภาระหรือลดภาระหรือใช้ดุลพินิจแทนในเรื่องความเหมาะสมของการทําคําสั่งทางปกครองหรือมีข้อกําหนดเป็นเงื่อนไขอย่างไรก็ได้”
หมายถึง เจ้าหน้าที่ผู้ออกคําสั่งทางปกครองที่ได้รับอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองมีอํานาจพิจารณาทบทวนคําสั่งทางปกครองของตนเองหรือความเหมาะสมของการทําคําสั่งทางปกครอง และอาจมีคําสั่งเพิกถอนคําสั่งทางปกครองเดิมหรือเปลี่ยนแปลงคําสั่งนั้นไปในทางใดและในเรื่องใดก็ได้ภายในขอบเขตอํานาจหน้าที่ของตน (มาตรา ๔๖) โดยต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จและแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบว่าตนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคําอุทธรณ์นั้นโดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ (มาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง) ในกรณีที่เห็นด้วยกับคําอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ให้ดําเนินการเปลี่ยนแปลงคําสั่งทางปกครองภายในกําหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคําอุทธรณ์ (มาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง) แต่ถ้าไม่เห็นด้วยกับคําอุทธรณ์ นอกจากจะต้องแจ้งผลให้แก่ผู้ร้องทุกข์ทราบแล้ว ก็ต้องเร่งรายงานความเห็นพร้อมด้วยเหตุผลไปยังผู้มีอํานาจพิจารณาคําอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคําอุทธรณ์ดังกล่าวด้วย ส่วนผู้ใดจะเป็น “ผู้มีอํานาจพิจารณาอุทธรณ์” นั้น ให้เป็นไปตามที่กําหนดในกฎกระทรวง แต่โดยทั่วไปแล้ว ก็คือเจ้าหน้าที่ในระดับสูงขึ้นตามสายงานบังคับบัญชานั่นเอง (มาตรา ๔๕ วรรคสาม) ซึ่งผู้มีอํานาจพิจารณาคําอุทธรณ์ต้องพิจารณาคําอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตนได้รับรายงาน แต่ถ้ามีเหตุจําเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ ก็ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกําหนดระยะเวลาสามสิบวันดังกล่าว และผู้มีอํานาจพิจารณาคําอุทธรณ์สามารถขยายระยะเวลาพิจารณาคําอุทธรณ์ออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกําหนดระยะเวลาสามสิบวันแรก (มาตรา ๔๕ วรรคสอง) ส่วนขอบเขตการพิจารณาคําอุทธรณ์นั้น ก็เป็นเช่นเดียวกับขอบเขตการพิจารณาคําอุทธรณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้ออกคําสั่งทางปกครองนั่นเอง (มาตรา ๔๖)
หมายเหตุ.......
มาตรา 44 ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว
คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย
การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง เว้นแต่จะมีการสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง
มาตรา 45 ให้เจ้าหน้าที่ตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง พิจารณาคำอุทธรณ์และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ในกรณีที่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองตามความเห็นของตนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย
ถ้าเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้เร่งรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตนได้รับรายงาน ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว ใน การนี้ให้ขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ผู้ใดจะเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
บทบัญญัติมาตรานี้ไม่ใช้กับกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 46 ในการพิจารณาอุทธรณ์ ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครองได้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย หรือความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครอง และอาจมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเดิม หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นไปในทางใด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มภาระหรือลดภาระหรือใช้ดุลพินิจแทนในเรื่องความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครองหรือมีข้อกำหนดเป็นเงื่อนไขอย่างไรก็ได้
มาตรา 47 การใดที่กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคณะกรรมการขอบเขตการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น สำหรับกระบวนการพิจารณาให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ หมวด 2 นี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายดังกล่าว
มาตรา 48 คำสั่งทางปกครองของบรรดาคณะกรรมการต่าง ๆ ไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือไม่ ให้คู่กรณีมีสิทธิโต้แย้งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น แต่ถ้าคณะกรรมการดังกล่าวเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท สิทธิการอุทธรณ์และกำหนดเวลาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามที่บัญญัติในกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...