1 ก.ค. 2562

เทศบาลเปิดประตูระบายน้ำ... กำแพงกันดินชาวบ้านทรุด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ?

คดีที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปิดประตูระบายน้ำของเทศบาล ทำให้ที่ดินและกำแพงกันดินของชาวบ้านยุบตัว กรณีดังกล่าวเทศบาลจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ ? หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า กำแพงกันดินของชาวบ้านที่เสียหาย (ผู้ฟ้องคดี) ก่อสร้างมานานกว่า ๒๐ ปี โดยไม่สามารถแสดงหลักฐานการขออนุญาตก่อสร้างต่อเทศบาลเพื่อตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้างได้ แต่ผลจากการเปิดประตูระบายน้ำของเทศบาล นอกจากจะทำให้กำแพงดินของผู้ฟ้องคดีเสียหายแล้ว ยังทำให้กำแพงดินที่เทศบาลสร้างขึ้นเองตามมาตรฐานเสียหายด้วย
โดยมูลเหตุของคดีนี้เกิดจากเจ้าหน้าที่เทศบาลได้เปิดประตูระบายน้ำปล่อยน้ำจากลำห้วยจนหมด ต่อเนื่องกันระยะเวลา ๓ ถึง ๔ เดือน เพื่อซ่อมแซมคอสะพาน ประกอบกับมีฝนตกหนัก จึงมีการระบายน้ำออกอย่างรวดเร็ว ทำให้ที่ดินบริเวณริมลำห้วยเกิดการทรุดตัว บ้านเรือนใกล้เคียงได้รับความเสียหาย และกำแพงกันดินของผู้ฟ้องคดีทรุดตัวและผืนดินด้านในกำแพงยุบตัวลงประมาณ ๑ เมตร และยังคงยุบตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้ฟ้องคดีขอให้เทศบาลรับผิดชอบซ่อมแซมกำแพงกันดินที่เสียหาย แต่เทศบาลปฏิเสธ อ้างว่ากำแพงกันดินของผู้ฟ้องคดีก่อสร้างต่ำกว่ามาตรฐาน การทรุดตัวหรือพังทลายง่าย ไม่ได้เกิดจากการเปิดประตูระบายน้ำ
ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้เทศบาล (ผู้ถูกฟ้องคดี) รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า บิดาของผู้ฟ้องคดีได้ก่อสร้างกำแพงกันดินมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี โดยไม่ปรากฏร่องรอยความเสียหาย ยังแข็งแรงทนทานและใช้งานได้ตามปกติ แต่เมื่อมีการซ่อมแซม คอสะพาน ระยะเวลา ๓ ถึง ๔ เดือน โดยเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทำการเปิดประตูระบายน้ำออกจาก ลำห้วยจนหมดและเมื่อมีฝนตกหนักก็มีการระบายน้ำออกอย่างรวดเร็ว จนทำให้กำแพงกันดินและผืนดิน ของผู้ฟ้องคดียุบตัวลง ประการสำคัญ กำแพงกันดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้สร้างขึ้นเพื่อกันการพังทลายของดินให้กับประชาชนรายอื่น ๆ และเป็นการสร้างขึ้นภายหลังกำแพงผนังกันดินของผู้ฟ้องคดี ก็มีการหลุดลอกและพังทลายเหมือนของผู้ฟ้องคดีเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าการก่อสร้างกำแพงกันดินของผู้ฟ้องคดีมีมาตรฐาน ไม่ต่ำกว่าการก่อสร้างกำแพงกันดินของผู้ถูกฟ้องคดีเช่นกัน ดังนั้น ความเสียหายของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว จึงเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทำการเปิดประตูระบายน้ำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ที่พึงกระทำ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้ฟ้องคดีและประชาชนทั่วไป แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ ถือว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัด จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๑๙๘๑/๒๕๕๙)
คดีนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีเฉพาะแต่เจ้าหน้าที่ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่ยังทำให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ทั่วไปที่ใช้อำนาจ ตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะตระหนักต่อผลที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน เพราะเมื่อปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความรอบคอบระมัดระวังตามภาวะวิสัยที่พึงกระทำและเกิดความเสียหายขึ้น ต่อประชาชนหรือต่อเอกชนคนใดคนหนึ่ง แม้หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอก อันเนื่องจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตนก็ตาม แต่หน่วยงานของรัฐ ยังมีอำนาจที่จะไล่เบี้ยให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ หากความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด ของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
เครดิต : นางสาวนิตา บุณยรัตน์ พนักงานคดีปกครองชำนาญการ , กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร , สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...