2 ก.ค. 2562

ใคร ?… มีอำนาจ ในการควบคุมดูแล ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535

พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 เป็นพระราชบัญญัติที่คุ้มครองประชาชนด้านสุขลักษณะและการอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมซึ่งครอบคลุมทั้งกิจกรรม การกระทำทุกอย่าง และกิจการประเภทต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน ตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ครัวเรือน ชุมชน ตลอดจนกิจการขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ เช่น หาบเร่ แผงลอย สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร ตลาดสด กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่าง ๆ รวมทั้งการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์
ในการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 นั้น กฎหมายได้กำหนดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ขององค์กร ส่วนราชการต่าง ๆ และบุคคลทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้มีลักษณะประสานสอดคล้องกัน เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการกระจายอำนาจ ในการควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายลงสู่ราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กทม. เทศบาล อบต. เมืองพัทยา ให้มีอำนาจในการออกข้อกำหนดของท้องถิ่น ซึ่งสามารถใช้บังคับในเขตท้องถิ่นนั้นได้ ทั้งนี้โดยถือว่าเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด และให้อำนาจแก่ “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” ในการควบคุมดูแลโดยการออกคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุงการอนุญาตหรือไม่อนุญาต การสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต รวมทั้งการเปรียบเทียบคดี เป็นต้น และกำหนดให้หน่วยงานส่วนกลางเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานและวิธีปฏิบัติเพื่อการสนับสนุนและสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของหน่วยงานส่วนท้องถิ่น นอกจากนั้นยังได้กำหนดให้มี “เจ้าพนักงานสาธารณสุข” เป็นเจ้าพนักงานสายวิชาการ เป็นผู้ตรวจตราดูแลและวินิจฉัยทางวิชาการ รวมทั้ง“ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น”เพื่อช่วยในการตรวจตรา กำกับดูแล อีกด้วย
“เจ้าพนักงานท้องถิ่น” หมายถึง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร นายกเทศมนตรีสำหรับในเขตเทศบาล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา
เจ้าพนักงานสาธารณสุข” หมายถึง ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีเจ้าพนักงานสาธารณสุขทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแต่งตั้งเจ้าพนักงานสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 แล้ว จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศแต่งตั้งเจ้าพนักงานสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2545 และ ประกาศแต่งตั้งเจ้าพนักงานสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 (ฉบับที่2) ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2546
“ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น” หมายถึง ข้าราชการหรือพนักงานของราชการส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้มีอำนาจปฏิบัติตรวจตรา กำกับดูแลตามพระราชบัญญัตินี้ ในเขตอำนาจของราชการส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบ

การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มี 3 รูปแบบ ดังนี้

1. อำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีอาญา
2. อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางการปกครอง
3. อำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535

อำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีอาญา

ในการบังคับให้เป็นไปตามพระราบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ในเรื่องการจับกุมหรือปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นและผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีผลว่าเจ้าพนักงานดังกล่าว มีอำนาจสืบสวนและรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อบังคับให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 โดยมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีฐานะสืบสวนคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 นอกจากนั้น เจ้าพนักงานท้องถิ่นยังมีอำนาจในการเปรียบเทียบคดี สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางการปกครอง

1. อำนาจออกคำสั่งเพื่อระงับเหตุรำคาญ “เหตุรำคาญ คือ เหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น” โดยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามผู้หนึ่งผู้ใดมิให้ก่อเหตุรำคาญในที่ หรือทางสาธารณะ หรือสถานที่ของเอกชน รวมทั้งการระงับ เหตุรำคาญด้วย ตลอดทั้งการดูแล ปรับปรุง บำรุงรักษาบรรดาถนนทางบก ทางน้ำ รางระบายน้ำ คูคลอง และสถานที่ต่าง ๆ ในเขตของตนให้ปราศจากเหตุรำคาญ
2. อำนาจสั่งแก้ไข ปรับปรุงในกรณีที่ปรากฎว่าผู้ดำเนินกิจการใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ปฏิบัติไม่ถูกต้องตาม พระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ข้อกำหนดของท้องถิ่นหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการดำเนินกิจการนั้น
3. อำนาจสั่งให้หยุดดำเนินกิจการ การสั่งให้หยุดดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราวนั้น มี 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 ถ้าผู้ดำเนินกิจการไม่แก้ไขหรือปรับปรุงให้ถูกต้องตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือถ้าการดำเนินการนั้นจะก่อให้เกิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะสั่งให้ผู้นั้นหยุดดำเนินกิจการนั้นไว้ทันทีเป็นการ ชั่วคราว จนกว่าจะเป็นที่พอใจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าปราศจากอันตรายแล้วก็ได้
กรณีที่ 2 ในกรณีที่ผู้ดำเนินกิจการใดดำเนินกิจการตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 โดยมิได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและเคยได้รับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เพราะเหตุที่ฝ่าฝืนดำเนินกิจการโดยมิได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมาแล้วครั้งหนึ่ง
4. อำนาจออกคำสั่งให้พักใช้ใบอนุญาต ในกรณีที่ปรากฎว่าผู้รับใบอนุญาตสำหรับกิจการใดไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงหรือข้อกำหนดของท้องถิ่นที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาตในเรื่องที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาตนั้น เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจจนสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้ภายในเวลาที่เห็นสมควร แต่ต้องไม่เกินสิบห้าวัน
5. อำนาจออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต เมื่อปรากฎว่าผู้รับใบอนุญาตถูกสั่งพักใช้ตั้งแต่สองครั้งขึ้นไปและมีเหตุที่จะต้องสั่งพักใช้ใบอนุญาตอีกหรือ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง หรือข้อกำหนดของท้องถิ่นที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาตในเรื่องที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต และการไม่ปฏิบัติหรือการปฏิบัติไม่ถูกต้องนั้นก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน หรือมีผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน

อำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535

อำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นและเจ้าพนักงานสาธารณสุข ในการปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ แก้ไข สั่งการและรวบรวมหลักฐานเพื่อป้องกันและปราบปรามการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ โดยมีอำนาจดังต่อไปนี้

1. มีหนังสือเรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือแจ้งข้อเท็จจริง หรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณา
2. เข้าไปในอาคารหรือสถานที่ใด ๆ ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบหรือควบคุมให้เป็นไปตามข้อกำหนดของท้องถิ่น
3. แนะนำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขในใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้ง หรือตามข้อกำหนดของท้องถิ่นหรือตามพระราชบัญญัตินี้
4. ยึดหรืออายัดของสิ่งใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี หรือเพื่อนำไปทำลายในกรณีจำเป็น
5. เก็บหรือนำสินค้าหรือสิ่งของใด ๆ ที่สงสัยจะไม่ถูกสุขลักษณะหรือจะก่อให้เกิดเหตุรำคาญจากอาคารหรือสถานที่ใด ๆ เป็นปริมาณตามสมควรเพื่อเป็นตัวอย่างในการตรวจสอบตามความจำเป็นได้โดยไม่ต้องใช้ราคา
ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานทั้ง 3 ตำแหน่ง จะต้องแสดงบัตรประจำตัวตามแบบที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร การแสดงบัตรประจำตัว เป็นการทำให้บุคคลผู้ต้องปฏิบัติการตามคำสั่งทราบว่า เจ้าพนักงานผู้ทำหน้าที่นั้นเป็นใคร อยู่ในฐานะอะไร จึงจะอำนวยความสะดวกให้ได้
การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ในแต่ละท้องถิ่น หากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและเจ้าพนักงานสาธารณสุขได้ประสานงานและร่วมมือกันในการที่จะบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วละก็ ย่อมจะบรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนด้านสุขลักษณะและการอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ซึ่งเป็นสุดยอดปรารถนาของทุกคน …..มิใช่หรือ

เครดิต : เชื้อเพ็ญ บุพศิร , ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...