6 ก.ค. 2559

นายก อบต. ทำสัญญากู้ยืมเงินตามโครงการเศรษฐกิจชุมชนกับ อบต. ... ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง

                   
  คดีปกครองในเรื่องนี้แม้จะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน แต่ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประชาชนทั่วไปซึ่งหมายรวมถึงผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐในฐานะประชาชนคนหนึ่งด้วย เนื่องจากเป็นข้อพิพาทที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเกี่ยวโยงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไปที่จะได้รับบริการสาธารณะจากโครงการที่รัฐจัดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ของชุมชนหรือประโยชน์ของท้องถิ่น

                      ซึ่งคดีนี้เป็นกรณีที่ประชาชนที่มีภูมิลำเนาในท้องถิ่นได้ร้องเรียนต่อนายอำเภอว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้เข้าเป็ นคู่สัญญากู้ยืมเงินกับองค์การบริหารส่วนตำบล จึงถือเป็ นผู้มีส่วนได้เสียอันเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ แต่เมื่อมีการฟ้องคดีศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า สัญญากู้ยืมเงินในโครงการที่รัฐได้ดำเนินการเพื่อจัดทำบริการสาธารณะให้กับท้องถิ่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจึงมีสิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณะดังกล่าวในฐานะประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น

                      ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายการกระทำหรือการเข้าไปเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นคู่สัญญา หรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือที่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้นจะกระทำ ถือเป็ นข้อห้ามประการหนึ่งตามมาตรา ๖๔/๒ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ที่กำหนดว่าบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้องไม่กระทำการในลักษณะดังกล่าว และหากมีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนอาจเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง (๕) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เหตุที่กฎหมายกำหนดไว้ในลักษณะเช่นนี้ก็เนื่องจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลถือเป็นตำแหน่งสำคัญที่ต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ รวมถึงการมีอำนาจหน้าที่ในการสั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล ดังนั้น หากบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีส่วนได้เสียในสัญญาที่องค์การบริหารส่วนตำบลเข้าเป็นคู่สัญญากับตนแล้ว ก็อาจใช้อำนาจหน้าที่สร้างหรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตนโดยเบียดเบียนหรือคุกคามประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ของรัฐ และย่อมอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและประชาชนในท้องถิ่นนั้นขึ้นได้

                      อย่างไรก็ตาม การทำสัญญาของบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกับองค์การบริหารส่วนตำบลในบางกรณีนั้น อาจไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาที่ได้จัดทำขึ้นและไม่ถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย อันจะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ดังเช่นคดีปกครองในคอลัมน์ระเบียบกฎหมายที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้

                      คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นประชาชนซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องถิ่นพิพาทได้มีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี(นายอำเภอ) สอบสวนและวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เนื่องจากก่อนที่นาย ส. ในฐานะประธานกลุ่มอาชีพเลี้ยงโคเนื้อ จะได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับองค์การบริหารส่วนตำบล อันถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นคู่สัญญา และต้องพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนด ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีได้วินิจฉัยว่า สัญญากู้ยืมเงินที่จัดทำขึ้นอยู่ภายใต้โครงการเศรษฐกิจชุมชนอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะขององค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งประชาชนทั่วไปรวมทั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตท้องถิ่นนั้น ต่างมีสิทธิได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน การทำสัญญาของนาย ส. จึงไม่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบล เพราะมิเช่นนั้นจะเท่ากับว่าสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่อาจได้รับประโยชน์ หรือมีสิทธิน้อยกว่าประชาชนทั่วไปจากการรับบริการจัดทำบริการสาธารณะ ดังนั้น การทำสัญญาดังกล่าวจึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย และไม่เป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดี

                      กรณีจึงมีประเด็นที่น่าสนใจว่า การเข้าเป็นคู่สัญญายืมเงินลงทุนโครงการเศรษฐกิจชุมชนระหว่างนาย ส. กับองค์การบริหารส่วนตำบล ถือว่ามีลักษณะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่ทำไว้อันจะเป็นคุณสมบัติต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือไม่ ?

                      ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การให้กู้ยืมเงินโครงการเศรษฐกิจชุมชนขององค์การบริหารส่วนตำบลเป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในการพึ่งพาตนเอง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมด้วยการพัฒนาชุมชนระดับฐานรากคือตำบล หมู่บ้านให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน อันแสดงถึงการที่หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะและจัดการบริหารราชการแผ่นดินให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป ดังนั้น การที่นาย ส. ได้เข้าทำสัญญายืมเงินทุนกับองค์การบริหารส่วนตำบล จึงเป็นกรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลได้จัดทำบริการสาธารณะในการส่งเสริมและสนับสนุนให้แก่กลุ่มอาชีพหรือกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนในท้องถิ่นนั้นเป็นการทั่วไป อีกทั้งไม่ปรากฏว่า นาย ส. ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่การงาน ทำให้ตนมีสิทธิหรือได้รับประโยชน์เหนือกว่าประชาชนทั่วไปในการเข้าทำสัญญา หรือใช้โอกาสดังกล่าวโดยเบียดเบียนหรือคุกคามประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ของรัฐ อันเป็นลักษณะขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า นาย ส. ได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดแล้ว ดังนั้น แม้ต่อมาภายหลังนาย ส. จะได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล การเข้าเป็นคู่สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวก็มิใช่กรณีที่จะถือว่านาย ส. เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญา อันจะทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแต่อย่างใด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่า การเป็นคู่สัญญาของนาย ส. ไม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง (๕)และมาตรา ๖๔/๒ และไม่เป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งแต่อย่างใด จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๗๘๘/๒๕๕๗)

                      คดีนี้เป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในการพิจารณาวินิจฉัยสิทธิของประชาชน กรณีที่รัฐได้ดำเนินโครงการที่มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ซึ่งรัฐในฐานะผู้ดำเนินโครงการต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้ได้รับบริการสาธารณะจากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถือว่าเป็นแนวทางการพิจารณาวินิจฉัยที่ดีเกี่ยวกับการเข้าไปเป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งของผู้บริหารหรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในสัญญาที่มีองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นคู่สัญญาซึ่งโดยหลักแล้วบุคคลดังกล่าวจะต้องไม่อาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่ตนดำรงอยู่ ทำให้ตนมีสิทธิหรือได้รับประโยชน์เหนือกว่าประชาชนทั่วไปในลักษณะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนเป็นสมาชิกอยู่อันจะถือเป็นลักษณะขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และหากมีการกระทำในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอาจเป็นเหตุให้บุคคลนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่


                      เครดิต : นายณัฐพล ลือสิงหนาท ,พนักงานคดีปกครองชำนาญการ ,สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง , คอลัมน์ระเบียบกฎหมาย วารสารกำนันผู้ใหญ่บ้าน ฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...