ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการบัญชีของราชการ ไม่ว่าจะเป็นราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอน ที่กฎหมายหรือระเบียบกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดและรอบคอบ เพื่อที่จะได้รักษาผลประโยชน์ของทางราชการและป้ องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องราวของหัวหน้าหน่วยงานคลัง (ผู้ฟ้องคดี) ที่ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินยืมและชด ใช้เงินยืม จนเป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย
ข้อเท็จจริงในคดีนี้เกิดขึ้นจากนาย ว. ขณะเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้ยืมเงินจากผู้ถูกฟ้องคดี (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการจัดการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งต่อมา นาย ว. ได้นำใบสำคัญคู่จ่ายมาส่งใช้เงินยืมบางส่วน ก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่งเพียง 2 วัน และภายหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งแล้วก็ไม่ได้ส่งใบสำคัญเพิ่มเติมและส่งใช้ เงินคืนส่วนที่เหลือแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีจึงออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายตามความเห็น ของกระทรวงการคลังที่เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้อำนวยการกองคลัง มีหน้าที่ตรวจสอบทะเบียนเงินยืม แต่กลับไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและเงื่อนไขในใบยืม ถือได้ว่ากระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การออกคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นธรรม เพราะตนได้ดำเนินการตามระเบียบแล้วโดยมีหนังสือ เพื่อเสนอให้มีการสั่งการให้นาย ว. ส่งใช้เงินยืมแล้ว รวม 3 ฉบับ ผู้ฟ้ องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำ สั่งของผู้ถูกฟ้องคดี
คดีนี้มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 กำหนดให้ผู้ยืมนำใบสำคัญคู่จ่าย รวมทั้งเงินเหลือจ่าย (ถ้ามี) ส่งคืนภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเงิน ถ้าไม่ส่งตามกำหนดต้องชดใช้เงินหรือยอมให้หักเงินเพื่อชดใช้เงินยืม (ข้อ 84 (2) ประกอบข้อ 86 วรรคหนึ่ง (3)) หากครบกำหนดแล้ว ยังไม่ชดใช้เงินยืม ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจสั่งการให้ผู้ค้างชำระเงินยืมส่งใช้เงินยืมภายใน กำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร อย่างช้าไม่เกิน 30 วัน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ชดใช้เงินยืม จะต้องหักเงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่พึงได้รับจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อชดใช้เงินยืมนั้น (ข้อ 84 (4)) และกำหนดหน้าที่ให้หัวหน้าหน่วยงานคลังตรวจสอบทะเบียนเงินยืมของผู้ยืมที่ พ้นจากตำแหน่ง หากยังค้างชำระเงินยืมอยู่ ก็ให้เร่งรัดให้เสร็จสิ้นในทันทีก่อนที่ผู้ยืมจะพ้นจากตำแหน่ง ในกรณีที่ไม่ยิมยอมชดใช้เงินยืม ก็จะต้องหักเงินเพื่อชดใช้เงินยืมดังกล่าว (ข้อ 84 (5))
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยืมเงิน คือ นาย ว. ได้รับเงินยืมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 ดังนั้น ตามระเบียบดังกล่าว จึงมีหน้าที่ต้องส่งใบสำคัญและเงินที่เหลือจ่าย ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเงิน คือ ภายในวันที่ 19 ธันวาคม 2550
ประเด็นปัญหา คือ การที่หัวหน้าหน่วยงานคลังมีหนังสือเสนอผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อสั่งการให้มี การส่งใช้เงินยืม ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระเบียบกำหนดไว้หรือไม่ ? และหัวหน้าหน่วยงานคลังต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อนาย ว.ไม่ส่งใบสำคัญและเงินที่เหลือจ่ายคืนภายในกำหนดเวลา (วันที่ 19 ธันวาคม 2550) ผู้ฟ้องคดีในฐานะหัวหน้าหน่วยงานคลัง ย่อมมีหน้าที่เสนอให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสั่งการให้นาย ว. ส่งใช้เงินยืมอย่างช้าไม่เกิน 30 วัน คือ ภายในวันที่ 18 มกราคม 2551 (นับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550) แต่ไม่ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือเสนอนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อสั่งการให้มี การส่งใช้เงินยืมภายในเวลาดังกล่าว แม้ต่อมาผู้ฟ้องคดีจะได้มีหนังสือเสนอนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อแจ้งให้นาย ว. รีบส่งใช้เงินยืมที่ค้างชำระโดยด่วน ก็เป็นการดำเนินการเมื่อพ้นกำหนดเวลาในการเร่งรัดให้ส่งใช้เงินยืมไปแล้ว และเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลา (วันที่ 18 มกราคม 2551) ที่ควรมีคำสั่งให้ส่งใช้เงินยืมแล้ว ย่อมถือว่า นาย ว. ฝ่ าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อ 86 วรรคหนึ่ง (3) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ผู้ฟ้ องคดีจึงมีหน้าที่ต้องขออนุมัติให้หักเงินเดือน ค่าจ้าง บำเหน็จบำนาญ หรือเงินอื่นใด ที่นาย ว.จะพึงได้รับจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อชดใช้เงินยืมตามข้อ 84 (2) ของระเบียบดังกล่าว การที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รวม 3 ฉบับ เป็นเพียงแต่หนังสือเร่งรัดให้นาย ว. ส่งใช้เงินยืมตามระเบียบ โดยมิได้มีการเสนอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดหักเงินใด ๆ ที่นาย ว. จะพึงได้รับเพื่อชดใช้เงินยืมนั้น กรณีถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบดังกล่าว และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงต้องรับผิดตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 468/2558)
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดี สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน การงบประมาณ และการบัญชี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าหน่วยงานคลังหรือผู้อำนวยการกองคลัง ซึ่งนอกจากจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ที่ระเบียบของทางราชการได้ กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการไว้ให้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องควบคุมตรวจสอบให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติหน้าที่ให้ถูก ต้องตามที่ระเบียบกำหนดไว้ หากทางราชการต้องได้รับความเสียหาย เพราะเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่ระมัดระวังหรือไม่ครบถ้วนถูกต้องตาม ระเบียบที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้แล้ว ในฐานะที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานคลังย่อมต้องรับผิดในความเสียหายนั้นด้วย ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ดังกล่าว..
.
เครดิต : นายปกครอง (หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2559)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น