6 ก.ค. 2559

“สมาชิก อบต. ไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่” ... ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ !

                        
                   
     ตามมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๘) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ (ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๖) กำหนดการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไว้ว่า กรณีที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สภาองค์การบริหารส่วนตำบลย่อมมีมติให้พ้นจากตำแหน่งได้ โดยมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณา และมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่มีมติให้พ้นจากตำแหน่ง

                        จากบทกฎหมายข้างต้นเป็นการกำหนดสาเหตุของการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล โดยพิจารณาจาก “พฤติกรรม” ที่เกิดขึ้นตามข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี ด้วยเหตุนี้ในทางปฏิบัติของฝ่ายปกครองจึงอาจเกิดปัญหาในการวินิจฉัยว่า พฤติการณ์อย่างไรที่จะเข้าข่ายให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลต้องพ้นจากตำแหน่งตามบทบัญญัติดังกล่าว

                        คดีปกครองที่จะนำมาเล่าเพื่อเป็นอุทาหรณ์ในคอลัมน์ระเบียบกฎหมายฉบับนี้ จึงถือเป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการวินิจฉัย “พฤติกรรม” ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการปรับบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย

                        พฤติกรรมของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในคดีนี้ คือ การไม่เข้าร่วมกิจกรรมการทำแนวกันไฟ การไม่เข้าร่วมประชุมเพื่อเตรียมจัดงาน พอ.สว. การไม่เข้าร่วมกิจกรรม อสม. การไม่จัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดงานกีฬาทั้งที่ได้รับมอบหมาย และการไม่เข้าร่วมงานวันพ่อแห่งชาติ จากพฤติกรรมดังกล่าวทำให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) มีมติให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๘) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗

                        หลังจากที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นอุทธรณ์ และนายอำเภอ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) วินิจฉัยยกอุทธรณ์แล้ว ได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยโต้แย้งว่า ญัตติให้พ้นจากตำแหน่งมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เนื่องจากตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล คือ ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบล พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ควบคุมการปฏิบัติงานของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามนโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ

                        ดังนั้น จึงมีประเด็นที่น่าสนใจว่า พฤติกรรมการไม่เข้าร่วมกิจกรรมการทำแนวกันไฟ การไม่เข้าร่วมประชุมเพื่อเตรียมจัดงาน พอ.สว. การไม่เข้าร่วมกิจกรรม อสม. การไม่จัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดงานกีฬาทั้งที่ได้รับมอบหมาย และการไม่เข้าร่วมงานวันพ่อแห่งชาติ ถือว่าสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล อันเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๘) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ หรือไม่

                        ในเบื้องต้นศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบหรือไม่ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยชอบแล้ว

                        สำหรับประเด็น การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือไม่ ?

                        ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งขององค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลพ.ศ. ๒๕๓๗ ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นสมาชิกของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แม้การกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ไม่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมรวม ๕ ประเด็น ดังกล่าวข้างต้น จะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมและสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้เกี่ยวข้องที่ต้องขอความร่วมมือจากผู้ฟ้องคดีก็ตาม แต่กิจกรรมดังกล่าวก็ไม่ใช่กิจกรรมตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และการกระทำของผู้ฟ้องคดีก็ไม่ถึงขนาดเป็นการมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่หากจะมีความเสื่อมเสียเกิดขึ้น ก็เป็นความเสื่อมเสียที่เกิดแก่ตัวผู้ฟ้องคดีเองในฐานะที่เป็นผู้แทนของประชาชน แต่ไม่ประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีของการมีส่วนร่วมและเสียสละในการทำกิจกรรมอันจะมีผลต่อการลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในอนาคตของผู้ฟ้องคดี ประกอบกับการทำกิจกรรมดังกล่าวก็ได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ และไม่มีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีไม่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงไม่เป็นการมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดังนั้น มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่เห็นชอบตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๔๙๖/๒๕๕๘)

                        คดีนี้ นอกจากจะเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยพฤติกรรมของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งว่าจะต้องเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว หากบทบัญญัติของกฎหมายได้ให้อำนาจแก่ฝ่ายปกครองใช้ดุลพินิจวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณีว่าเป็นไปตามบทกฎหมายที่กำหนดในเรื่องนั้น ๆ หรือไม่ ก่อนที่ผู้มีอำนาจจะใช้อำนาจดังกล่าว จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีนั้น ๆ ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีบทกฎหมายกำหนดในเรื่องนั้น ๆ ไว้หรือไม่ และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงไว้อย่างไร ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีที่จะวินิจฉัยตรงตามหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร และผลของการปรับข้อกฎหมายกับข้อเท็จจริงได้เป็นอย่างไร หากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามที่กฎหมายที่กำหนดไว้ ฝ่ายปกครองย่อมไม่มีอำนาจที่จะใช้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ดังเช่นคดีนี้ซึ่งกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมความประพฤติของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ให้กระทำการใดๆ ในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ขององค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อให้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ เมื่อพฤติกรรมของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ถึงขนาดทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลเสียหายหรือเสื่อมเสียประโยชน์ ย่อมไม่ต้องด้วยเหตุที่จะให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงตามมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๘) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ผู้มีอำนาจจึงย่อมไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งได้


                        เครดิต: นายนิรัญ อินดร พนักงานคดีปกครองชำนาญการ , กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร , สำนักวิจัยและวิชาการ , สำนักงานศาลปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...