พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่ วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง ได้กำหนดถึงกรณีที่จะทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลต้องสิ้นสุดลงไว้ประการหนึ่ง คือ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้นเป็นคู่สัญญา หรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้น หรือที่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้นจะกระทำ (อนุมาตรา ๖) โดยวรรคสองกำหนดว่าเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (๔) (๕) (๖) หรือ (๗) ให้นายอำเภอสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว คำวินิจฉัยของนายอำเภอให้เป็นที่สุด
โดยที่การวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลต้องสิ้นสุดลง เพราะเหตุตามมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๖) นั้น ถือเป็นประเด็นปัญหาที่มีข้อพิพาทขึ้นมาสู่การพิจารณาและพิพากษาของศาลปกครองเป็นจำนวนมาก ทั้งในแง่ของการวินิจฉัยเกี่ยวกับ “การเป็นผู้มีส่วนได้เสีย” และในแง่ของกระบวนการและผู้มีอำนาจวินิจฉัยการสิ้นสุดของสมาชิกภาพ เช่นเดียวกับคดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้
กรณีผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับองค์การบริหารส่วนตำบลโดยมีการตกลงซื้อขายยากำจัดศัตรูพืชจากร้านค้าที่ตนเองเป็นเจ้าของในขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ถูกฟ้องคดี (นายอำเภอ) จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐
ผู้ฟ้องคดียอมรับว่าได้ตกลงขายยากำจัดหอยเชอรี่ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลตามบันทึกตกลงซื้อขายลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐ โดยมีคณะกรรมการตรวจรับพัสดุเป็นผู้ลงชื่อรับของ และส่วนการคลังได้เสนอขออนุมัติเบิกจ่ายเงินและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้อนุมัติให้เบิกเงินในวันเดียวกัน โดยร้านค้าของผู้ฟ้องคดีได้ออกใบเสร็จรับเงินเพื่อเป็นหลักฐานให้ไว้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล
คดีดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจตามข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้ องคดีว่า (๑) ตนมิได้มีเจตนาจะเข้าไปเป็นคู่สัญญา หากแต่เป็นการให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลอีกเขตเลือกตั้งหนึ่งยืมชื่อร้านค้าเพื่อใช้ในการเบิกจ่ายเงินเท่านั้น (๒) การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงลงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒ แต่คณะกรรมการฯ สอบสวนพยานในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒ นั้นเป็นการสอบสวนโดยไม่มีอำนาจ
คำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเพราะเหตุมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับองค์การบริหารส่วนตำบลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนี้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงตามมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๖) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๖ และการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้น กฎหมายมิได้กำหนดว่าจะต้องกระทำโดยการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น การที่คณะกรรมการได้เริ่มดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงไปก่อนที่จะมีคำสั่งแต่งตั้ง จึงไม่ทำให้การรับฟังพยานหลักฐานที่คณะกรรมการได้กระทำมาแล้วก่อนมีคำสั่งแต่งตั้งต้องเสียไป เมื่อผู้ถูกฟ้องคดี เห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพราะไม่อาจทำให้ผลการวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
สำหรับการที่ผู้ฟ้องคดีได้ทำบันทึกตกลงซื้อขายกับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนสังกัดอยู่นั้น ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับองค์การบริหารส่วนตำบลหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า บทบัญญัติมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๖) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมฯ มีเจตนารมณ์ในการป้องกันมิให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเข้าไปมีประโยชน์ได้เสียกับองค์การบริหารส่วนตำบลในขณะดำรงตำแหน่งอยู่ เพื่อให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลได้ทำหน้าที่โดยเที่ยงธรรม จึงบัญญัติห้ามไม่ให้สมาชิกเข้าไปมีส่วนได้เสียกับองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และไม่คำนึงว่าจะเป็นการได้ประโยชน์จากการเข้าทำสัญญาหรือเข้าทำกิจการใดกับองค์การบริหารส่วนตำบลหรือไม่ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดข้อยกเว้นและมิได้กำหนดถึงมูลเหตุจูงใจในการเข้าไปมีส่วนได้เสียในการกระทำดังกล่าวกับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนเป็ นสมาชิกอยู่แต่อย่างใด ดังนั้น หากข้อเท็จจริงเกิดขึ้นตามที่มาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๖) บัญญัติไว้แล้ว สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลผู้นั้นจะต้องพ้นจากสมาชิกภาพตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้น อันเป็นการต้องห้ามตามคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อผู้ฟ้องคดีขณะเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลได้เป็นเจ้าของร้านค้า และระหว่างดำรงตำแหน่งได้ทำสัญญาซื้อขายโดยมีหลักฐานใบส่งของชั่วคราวและใบเสร็จรับเงินในฐานะผู้ขายและองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ในฐานะผู้ซื้อ กรณีจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยทางตรงตามสัญญาซื้อขายที่องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นคู่สัญญา อันต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๔๗ ตรี วรรคหนึ่ง (๖) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมฯ จึงเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีต้องสิ้นสุดลง ดังนั้น คำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ให้สมาชิกภาพของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลงจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๖๘๘/๒๕๕๗)
คดีนี้นอกจากจะทำให้ทราบถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเข้าไปมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับองค์การบริหารส่วนตำบลว่าเพื่อให้การทำหน้าที่ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นไปโดยเที่ยงธรรมเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นบรรทัดฐานที่ดีสำหรับการวินิจฉัยถึงการมีส่วนได้เสียโดยทางตรงในสัญญาที่ทำกับองค์การบริหารส่วนตำบลว่าหากปรากฏข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ว่าสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในขณะดำรงตำแหน่งได้เข้าเป็นคู่สัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบล นายอำเภอไม่อาจใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้ แต่ต้องผูกพันตามลักษณะแห่งข้อเท็จจริงและวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของผู้ดำรงตำแหน่งต้องสิ้นสุดลงเพราะเหตุแห่งการเข้าไปมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับองค์การบริหารส่วนตำบล
เครดิต : นางสาวจารุณี กิจตระกูล พนักงานคดีปกครองชำนาญการ ,กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร , สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง , คอลัมน์ระเบียบกฎหมาย วารสารกำนันผู้ใหญ่บ้าน ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๕๘
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น