คดีปกครองที่นำมาเสนอให้ครั้งนี้ เป็นกรณีที่ เจ้าหน้าที่พัสดุเพิ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเข้าปฏิบัติงานได้เพียง 2 เดือน 8 วัน และยังอยู่ในระหว่างการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านพัสดุเป็นงานที่มีลักษณะที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ และประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ผู้ฟ้องคดีจึงมีทักษะและประสบการณ์ในการปฏิบัติงานไม่มากนัก
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 7 จังหวัดขอนแก่นได้ทำการตรวจสอบการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาล พร้อมถนนคอนกรีตเสริมเหล็กของผู้ถูกฟ้องคดี พบว่า มีการกำหนดราคากลางสูงเกินจริง จึงแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อดำเนินการสอบสวนกรณีดังกล่าว คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ได้รายงานผลการสอบสวนต่อผู้ถูกฟ้องคดีว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุเป็นผู้นำเสนอราคากลางที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางคำนวณได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติให้ใช้ราคากลางดังกล่าวจัดจ้างต่อไป และมีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่า คณะกรรมการกำหนดราคากลางได้กำหนดราคากลางถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของทางราชการ หรือไม่ เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการกำหนดราคากลางได้กำหนดราคากลางไม่ถูกต้องตามหลัก เกณฑ์ของทางราชการ และไม่ปรากฏว่าฝ่ายพัสดุได้ทักท้วงว่า คณะกรรมการกำหนดราคากลางได้กำหนดราคากลางไม่ถูกต้องแต่อย่างใด กลับนำเสนอให้นายกเทศมนตรีให้ความเห็นชอบให้ใช้ราคากลางดังกล่าวดำเนินการจัดจ้างต่อไป พฤติการณ์ถือได้ว่า เป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทางราชการในอัตราร้อยละ 15 ของค่าเสียหายจำนวน 341,360.15 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 51,204.02 บาท ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นชอบด้วยและได้มีคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 25,602.01 บาท ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่ง ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีเฉพาะส่วนที่ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ถูกฟ้องคดีเกิน กว่า 12,718.77 บาท โดยให้มีผลย้อนไปนับแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีไม่เห็นพ้องด้วย จึงอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น
ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงิน 25,602.01 บาท เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลปกครองสูงสุด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 7 จังหวัดขอนแก่นได้ตรวจสอบการจัดจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 กรณีการก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลพร้อมถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในบริเวณที่ตั้งของสำนักงานเทศบาลตำบลหนองแปนในวงเงิน 4,989,000 บาท ซึ่งได้มีการคำนวณราคากลางไม่ถูกต้องเป็นผลให้มีการกำหนดราคากลางสูงเกินความจำเป็น โดยราคากลางที่กำหนดไว้เดิมคือ 5,000,000 บาท แต่ราคากลางของค่างานก่อสร้างดังกล่าวคือ 4,649,832.82 บาท ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องจ่ายเงินเกินความจำเป็นจำนวน 339,167.18 บาท จากการจ้างก่อสร้างดังกล่าว (วงเงินจ้างจำนวน 4,989,000 บาท – ราคากลางของงานก่อสร้าง 4,649,832.82 บาท) โดยในการขออนุมัติดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างดังกล่าวต่อนายกเทศมนตรี ปรากฏหลักฐานตามบันทึกข้อความของผู้ฟ้องคดี ระบุรายละเอียดในส่วนของราคามาตรฐานของทางราชการหรือราคากลางของทางราชการ ว่า คณะกรรมการกำหนดราคากลางได้กำหนดราคาก่อสร้างไว้เป็นเงิน 5,000,000 บาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุมีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่า คณะกรรมการกำหนดราคากลางได้กำหนดราคากลางถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของทางราชการ หรือไม่ แต่ไม่ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ตรวจสอบหรือมีข้อสังเกตใดเกี่ยวกับการกำหนดราคากลางดังกล่าว การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อ 20 วรรคหนึ่ง (3) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2547 ที่กำหนดว่า ก่อนดำเนินการซื้อหรือจ้างทุกวิธี นอกจากการซื้อที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้างตามข้อ 21 ให้เจ้าหน้าที่พัสดุจัดทำรายงานเสนอผู้สั่งซื้อหรือผู้สั่งจ้างตามรายการดัง ต่อไปนี้... (3) ราคามาตรฐานหรือราคากลางของทางราชการ หรือราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวเป็นเหตุให้นายกเทศมนตรีได้อนุมัติให้ใช้ราคากลางจำนวน 5,000,000 บาท เป็นวงเงินในการจัดจ้าง และทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องทำสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าวเป็นเงิน 4,989,000 บาท ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับความเสียหายต้องจ่ายค่าจ้างก่อสร้างสูงเกินความจำเป็น จำนวน 339,167.18 บาท (วงเงินจ้างจำนวน 4,989,000 บาท - ราคากลางของงานก่อสร้าง 4,649,832.82 บาท) พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ดังกล่าว เป็นการกระทำที่เบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์มาตรฐานอย่างมาก จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับความเสียหายถือเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ถูกฟ้องคดี ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีตามมาตรา 10 ประกอบกับมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ประเด็นที่สอง ผู้ฟ้องคดีได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานพัสดุ ระดับ 2 สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546 เมื่อนับถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 ที่ผู้ฟ้องคดีได้เสนอบันทึกขออนุมัติดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลพร้อมถนนคอนกรีตเสริมเหล็กภายในบริเวณที่ตั้งของสำนักงานเทศบาลต่อนายกเทศมนตรี ผู้ฟ้องคดีเพิ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเข้าปฏิบัติงานได้เพียง 2 เดือน 8 วัน และยังอยู่ในระหว่างการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านพัสดุเป็นงานที่มีลักษณะที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ และประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ผู้ฟ้องคดีจึงมีทักษะและประสบการณ์ในการปฏิบัติงานไม่มากนัก อีกทั้งไม่ปรากฏว่า ในการเสนอบันทึกขออนุมัติดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดราคากลางของคณะกรรมการกำหนดราคากลาง หรือผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดหรือผู้รับจ้างรายใด การที่ศาลปกครองชั้นต้น วินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดเพียงกึ่งหนึ่งของความรับผิดของเจ้าหน้าที่พัสดุ โดยพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 12,718.77 บาท นั้น เป็นการกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในกรณีนี้แล้ว อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 383/2558)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น