คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเก็บเงินของทางราชการที่ไปรับมาไว้ในรถยนต์ส่วนตัว แต่ในระหว่างเดินทางและแวะกินข้าวกลางวัน รถกลับถูกงัด ทำให้เงินของทางราชการหายเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินให้กับราชการหรือไม่
ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอได้รับมอบอำนาจให้ไปรับเงินค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ผู้ฟ้องคดีที่ 2 จึงขับรถยนต์ส่วนตัวไปเพื่อรับเงินดังกล่าว จากนั้นได้นำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารและนำเงินใส่ไว้ในกระเป๋าเอกสารและเดินทางกลับ โดยมีนาย ท. ขออาศัยรถกลับด้วย ซึ่งระหว่างเดินทาง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้แวะรับประทานอาหารกลางวันประมาณ 20 นาทีโดยเก็บกระเป๋าใส่เงินไว้ในรถซึ่งจอดไว้ที่ริมฟุตบาทห่างจากร้านประมาณ 25 เมตร และล็อคประตูรถไว้ แต่ปรากฏว่ารถยนต์ถูกงัดและกระเป๋าที่ใส่เงินหายไป
ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดี) จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและรายงานผลให้กระทรวงการคลัง จากนั้น กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ความเสียหายเกิดจากการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้ องคดีจึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนผู้ฟ้องคดีทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง แต่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเก็บกระเป๋าใส่เงินไว้ในรถยนต์และล็อคประตูรถแล้วโดยจุดที่จอดรถเป็นที่โล่งสามารถมองเห็นจากจุดที่นั่งกินข้าวได้ตลอดเวลา ถือว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วมิใช่การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองควรใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือซื้อดร๊าฟ หรือตั๋วแลกเงินแล้วไปเบิกเงินสด ณ ธนาคาร จะปลอดภัยกว่า การเลือกวิธีการถือเงินสด ถือเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองกระทำการด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีเจตนาที่จะทำให้เงินสูญหาย จึงไม่เป็นการกระทำด้วยความจงใจ และการที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้เก็บเงินไว้ในกระเป๋าเอกสาร ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกว่าในกระเป๋าใส่เงินไว้ และเมื่อไปรับประทานอาหารก็ได้นำกระเป๋าใส่เงินดังกล่าวเก็บไว้ในรถและล็อคประตูรถแล้ว เป็นการแสดงให้เห็นว่าได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาเงินตามสมควรแล้ว และแม้จะมีข้อพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองอาจเพิ่มความระมัดระวังให้มากกว่านี้ได้ เช่น อาจนำกระเป๋าใส่เงินติดตัวไปด้วย หรือให้ใครคนใดคนหนึ่งเฝ้ากระเป๋าใส่เงินไว้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นความประมาทเลินเล่อ ก็หาใช่เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ เพราะพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองแสดงให้เห็นว่า ได้ใช้ความระมัดระวังแล้ว มิใช่ไม่ใช้ความระมัดระวังเสียเลย
ส่วนวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือซื้อดร๊าฟ หรือตั๋วแลกเงิน แล้วไปเบิกเงินสด ณ ธนาคารซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าปลอดภัยกว่าการถือเงินสดนั้น แม้จะมีความรัดกุมมากกว่าและมีความเสี่ยงน้อยกว่าวิธีการถือเงินสด แต่เมื่อระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ได้กำหนดวิธีการไว้โดยเฉพาะ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงสามารถเลือกวิธีการเก็บรักษาและนำเงินกลับสำนักงานตามที่เห็นสมควรได้ นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวยังไม่ได้รับประกันว่าเงินจะไม่ถูกขโมย เงินยังอาจถูกขโมยได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ยังมีความเสี่ยงที่เงินจะถูกขโมยได้ การพิจารณา จึงต้องพิจารณาพฤติการณ์ในการเก็บรักษาเงินว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรหรือไม่ มากกว่าการพิจารณาวิธีการในการเก็บรักษาเงินและนำเงินกลับ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการเก็บรักษาเงินแล้ว แม้วิธีการที่ใช้จะมีความปลอดภัยน้อยกว่าวิธีการที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้าง ก็ไม่ถือเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
คำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 921/2558)
คดีนี้นอกจากศาลปกครองสูงสุดจะได้อธิบายการกระทำที่จะถือเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ว่าหมายถึง การกระทำโดยมิได้เจตนา แต่เป็นการกระทำซึ่งบุคคลพึงคาดหมายได้ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น และหากได้ใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจป้องกันมิให้เกิดความเสียหายได้ แต่กลับมิได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นเลยแล้ว ยังเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับทั้งเจ้าหน้าที่การเงินหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินว่า แม้กฎหมายหรือระเบียบของทางราชการจะไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการเกี่ยวกับการเก็บรักษาเงินกรณีดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ การปฏิบัติหน้าที่ก็จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เพื่อมิให้เกิดความเสียหายกับทางราชการ คดีนี้แม้พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้รับเงินรวมถึงดูแลรักษาเงินจะไม่ถือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่ก็ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ประกอบกับศาลปกครองสูงสุดได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการดูแลรักษาเงิน เช่น กรณีที่มีระเบียบและกฎหมายกำหนดวิธีการรับเงินดูแลเก็บรักษาเงิน หรือวิธีการเพื่อเพิ่มความระมัดระวัง หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็สมควรที่จะต้องใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการครับ !
เครดิต : นายปกครอง (หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2558)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น