6 ก.ค. 2559

“ข้าราชการเรียกรับเงินจากราษฎร ... ไม่มีเหตุอันควรลดหย่อนโทษ ! ”

             
 
               คดีปกครองฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการของข้าราชการที่มี พฤติการณ์เรียกและรับเงินจากผู้สมัครสอบเข้ารับราชการเป็นค่าวิ่งเต้นช่วย เหลือในการสอบ แต่การที่ข้าราชการดังกล่าวได้คืนเงินให้ผู้สมัครสอบที่เรียกรับมาจนครบถ้วน แล้ว และไม่เคยมีประวัติกระทำผิดวินัยมาก่อน หรือได้รับราชการมานานและทำคุณประโยชน์ให้ทางราชการนั้น จะถือเป็นเหตุลดหย่อนโทษหรือไม่ 

               ข้อเท็จจริงในคดีคือ ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการถูกกล่าวหาว่า ได้ร่วมกับสามีใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการเรียกและรับเงินจากผู้สมัครสอบเพื่อ บรรจุเป็นพนักงาน อบต. แต่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันเพื่อลงทุนทำการค้าข้าวสารโดยมี การทำสัญญากู้กันไว้ ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้พิจารณาและมีความเห็นเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (อธิบดีกรมการปกครอง) ว่า เป็นพฤติการณ์แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติศักด์ิของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ภายหลังผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (นายกรัฐมนตรี) มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติของ ก.พ. จึงฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่ง โดยเห็นว่าคำสั่งให้ไล่ออกเป็นการใช้ดุลพินิจหนักกว่าพฤติการณ์ที่กระทำ เพราะได้คืนเงินครบถ้วนแล้ว ตนไม่เคยกระทำผิดวินัยมาก่อน และปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความดีความรับผิดชอบมาตลอด จึงควรลดหย่อนโทษเป็นปลดออกจากราชการ 

               ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดี ถือเป็นเหตุอันควรลดหย่อนโทษให้เป็นปลดออกจากราชการหรือไม่ ? 

               ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการมาเป็นระยะเวลานาน ย่อมรู้ดีว่าการเรียกและรับเงินจากผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับราชการเพื่อเป็น ค่าวิ่งเต้นให้ได้เข้ารับราชการ เป็นเรื่องที่ข้าราชการที่ดีไม่ควรปฏิบัติพฤติการณ์จึงถือเป็นการแสวงหา ประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน ทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียงของทางราชการ ซึ่งแม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่าได้คืนเงินให้แก่ผู้ร้องเรียนแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจลบล้างความผิดที่ตนได้กระทำสำเร็จไปแล้วได้ การรับราชการมานาน มีความดีความชอบและไม่เคยกระทำผิดวินัยมาก่อน ก็ไม่อาจใช้เป็นเหตุในการลดหย่อนโทษเป็นให้ปลดออกจากราชการได้เช่นกัน อีกทั้ง ได้มีมติ ก.พ. ตามหนังสือเวียน ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 กรณีการลงโทษข้าราชการที่เรียกร้องเงินจากราษฎรเพื่อฝากเข้าทำงานในหน่วยงาน ที่ตนไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประพฤติชั่ว อย่างร้ายแรง และความร้ายแรงแห่งกรณีอยู่ในระดับเดียวกับกรณีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ราชการ โดยให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ และเหตุอันควรปราณีใด ๆ ไม่เป็นเหตุลดหย่อนโทษลงเป็นปลดออกจากราชการ ดังนั้น คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการจึงเหมาะสมแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 117/2558) 

               คดีนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับข้าราชการที่ต้องรักษาระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด การอาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตนเรียกรับเงินจากราษฎร ถือเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และความร้ายแรงอยู่ในระดับเดียวกับความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้จะมีการคืนเงินที่เรียกรับมาครบตามจำนวนแล้ว หรือแม้มีเหตุอันควรปราณีใด ๆ ก็ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุลดโทษเป็นปลดออกจากราชการได้ ... ครับ ! 

               เครดิต : นายปกครอง (หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2558) 

               เครดิตภาพ : https://sites.google.com/site/kphpe...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ... จ่ายตามฐานะไม่ได้ !

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากฝนตกหนักและลมพัดแรงทำให้หลังคาบ้านเ...